ภาพของผู้ต้องขัง 2,000 คน นั่งซ้อนต่อกันเป็นแถวยาวในสภาพเอามือประสานไว้ที่ศีรษะที่ก้มติดท้ายทอยคนที่อยู่ข้างหน้า ได้ถูกเปรียบเทียบว่า "ไม่ต่างจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์จำนวนมากอย่างแออัด" ก่อนจะถูกส่งไปยังเรือนจำ แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "Terrorism Confinement Centre" ในเมืองเตโคลูกาของเอลซัลวาดอร์ ที่อาจจะกลายเป็น "เรือนจำที่นรกที่สุดบนโลก" ก็เป็นได้
การที่นักโทษแต่ละคนที่เหมือนกับถูกผลิตออกมาจากโรงงานเดียวกัน คือ โกนศีรษะ มีรอยสักตามร่างกาย ถูกสวมกุญแจมือ ใส่ตรวนที่ข้อเท้า และตำรวจต้องสวมเครื่องแบบปราบจลาจลพร้อมอาวุธครบมือในระหว่างการเคลื่อนย้าย ก็เป็นสิ่งการันตีวีรกรรมการใช้ความรุนแรงของแก๊งของพวกเขาเป็นอย่างดี
แม้จะมีเรือนจำชื่อกระฉ่อนที่ได้ชื่อว่า "โหด" ที่สุดในโลก รวมทั้งเรือนจำใน 2 ประเทศในอเมริกากลาง ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุด คือ คอสตาริกากับเบลีซ ที่เคยถูกทำเป็นซีรีส์ฉายทาง Netflix เรื่อง The World's Toughest Prisons มาแล้ว แต่เชื่อว่าจะไม่ได้ครึ่งของเรือนจำแห่งใหม่ที่รองรับนักโทษได้ 40,000 คน ภายในอาคาร 8 หลัง มีห้องขังรวมกันเพียง 32 ห้อง ซึ่งหมายความว่าผู้ต้องขังเหล่านี้จะต้องแย่งเตียงที่มีสัดส่วน 80 เตียง ต่อ 100 คน กับห้องสุขา 2 ห้อง และอ่างล้างหน้า 2 อ่าง
เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงนโยบาย ที่มีเจตนาจะ "ควบคุมและจัดการผู้ต้องขัง" เมื่อพวกที่คุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงและอาจเป็นอริกันต้องมาแย่งอากาศกันหายใจ ที่อาจจะส่งผลสะท้อนกลับที่เลวร้ายและความโกลาหลที่เลวร้ายของกลุ่มอาชญากร ที่รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะขุดรากถอนโคน... หรือว่าเป็นเจตนาแอบแฝงที่จะให้คนเหล่านี้ กำจัดกันเองหรือไม่?
ในเรือนจำยังมีสัญญาณรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ และมีวงแหวน (ring) รักษาความปลอดภัย 7 วง ป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนี ทั้งยังมีห้องขังเหล็กทึบ กำแพงล้อมรอบขนาดใหญ่ หอคอย 19 แห่ง รั้วไฟฟ้า ตลอดจนเขตลาดตระเวน ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล อ้างว่าเรือนจำอื่นมีความหละหลวม พวกผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงโสเภณี โทรทัศน์, เครื่องเล่น PlayStations และโทรศัพท์มือถือ แต่เรือนจำแห่งใหม่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เด็ดขาด
ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือนจำเตือนว่า
ความแออัดยัดเยียดทำให้เกิดบรรยากาศของนักสู้ พวกนักโทษที่อายุน้อยหรืออ่อนแอมักตกเป็นเป้าหมาย สุขอนามัยถูกทำลาย คนที่ต้องพึ่งพาทางการแพทย์มักถูกปล่อยทิ้งให้ทุกข์ทรมาน เมื่อเกิดโรคก็จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ทำไมต้องสร้างสถานที่ที่น่ากลัวแห่งนี้
รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ ต้องการส่งสารถึงคนในชาติและทั่วโลกว่า พวกเขากำลังจัดการกับความรุนแรง และในที่สุดแก๊งอันธพาลที่ก่อกวนประเทศอยู่ก็ถูกควบคุมจนได้
แก๊งเหล่านี้มาจากไหน
วิกฤตนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากสงครามกลางเมืองเมื่อทศวรรษที่ 1980 ที่ทำให้ผู้ลี้ภัยหนีไปยังสหรัฐฯ และรวมตัวกันบนถนนในลอสแอนเจลิส แต่พอสงครามสิ้นสุดพวกเขากลับประเทศและตั้งแก๊งใหญ่ 2 กลุ่ม คือ MS-13 กับ Barrio-18 และตอนนี้สมาชิกแก๊งทั้ง 2 ก็ไปรวมกันอยู่ที่เรือนจำแห่งใหม่ และแยกได้ไม่ยากจากรอยสักที่ดูง่ายที่สุดก็คือเลข 18 กับ 13
พวกเขาเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดจากแรงกดดันมหาศาล ต้องใช้ชีวิตที่ถูกปิดกั้นจากแสงธรรมชาติทั้งหมดและห้ามญาติเยี่ยม การที่เอาแก๊งที่ไม่ชอบขี้หน้ากันมาอยู่ด้วยกันเป็นการจงใจทำลายการสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง มีสิ่งติดตัวเพียง 2 ชิ้น คือกางเกงขาสั้นกับหน้ากากอนามัย เรื่องนี้ยังเป็นการชวนเชื่อของรัฐบาลเพื่อหวังลบล้างข้อกล่าวหาที่ว่า ได้มีเจรจาลับกับบรรดาหัวแก๊งที่อยู่ในเรือนจำ และสัญญาว่าพวกเขาจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าบอกให้พวกสมาชิกที่อยู่ข้างนอกลดความรุนแรงลง ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะขนาดช่วงการระบาดของโควิด-19 อาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
เชื่อว่าภาพของอาชญากรตัวเอ้ที่ต้องไปเผชิญชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาในเรือนจำ จะสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนที่สุดจะทนกับพฤติกรรมการค้ายาเสพติดและการขู่กรรโชกของ 2 แก๊ง ที่จะต้องมีคนถูกฆ่าตาย 10-20 คน ทุกวัน เพราะคะแนนนิยมของประธานาธิบดีบูเคเลพุ่งไม่หยุด ผลสำรวจของสำนักหนึ่งชี้ว่าคะแนนนิยมของเขาสูงถึง 90% เลยทีเดียว