เจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวได้ตัดสินใจเกี่ยวกับแผนลดหนี้ต่างประเทศ ในการประชุมครั้งที่ 2 ของปีนี้ ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ซึ่งแม้จะยังไม่ได้แถลงความชัดเจนใด ๆ เกี่ยวกับการหารือหลังจากนั้น แต่การเคลื่อนไหวได้มีขึ้นในขณะที่ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ กำลังจัดการกับหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกือบ 40% และหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือน "กับดัก" ทางการเงินที่ดิ้นไม่หลุดและจวนเจียนจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ธนาคารโลกได้ประเมินว่าเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ลาวมีหนี้ต่างประเทศ (external debt) ราว 14,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 89% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งตามแผนของรัฐบาล คือการลดให้เหลือ 64.5% ของ GDP ในปีนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการลงทุนคนหนึ่ง เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะนำมาใช้ชำระหนี้ และทุกแขวงก็ร้องของบประมาณเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ และนับจากนี้ไปทุกโครงการในอนาคตจะต้องสอดคล้องกับรายได้ที่พวกเขามี และไม่สามารถกู้ยืมเงินได้อีกต่อไป
รัฐบาลยังจะยกเลิกโครงการใหม่ ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร เช่น การสร้างถนนสำหรับใช้ในทางการทหาร, โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การสร้างเขื่อนริมแม่น้ำโดยไม่จำเป็นและฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่รัฐในบางโครงการ ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มีอยู่ 17 แขวง กับ 1 เขตนครหลวง (เวียงจันทน์) ได้จัดสรรโครงการนอกแผนถึง 300 โครงการ ที่ยังคงต้องชำระหนี้ และโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับเงินทุนไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ และจะต้องผ่านการประเมินก่อนได้รับอนุญาตให้ดำเนินการด้วย
แต่ปัจจุบันชาวลาวส่วนใหญ่และองค์กรระหว่างประเทศ ต่างตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายในการลดหนี้ ก็ต่อเมื่อสามารถกวาดล้างคอร์รัปชันได้อย่างเด็ดขาด ไม่ให้มีการเบี่ยงเบนเอาเงินสาธารณะ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณประโยชน์ไปเข้ากระเป๋าส่วนตัว
ผู้สันทัดกรณีจากแขวงจำปาศักดิ์คนหนึ่งบอกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปราบปรามการคอร์รัปชัน เพราะคือสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ มีการทุจริตอย่างแพร่หลายในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อทางการไม่สามารถจัดการได้กฎหมายก็ต้องศักดิ์สิทธิ์ นักวิชาการอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกรุงเวียงจันทน์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจะต้องเข้มงวดมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากรให้กับโครงการของรัฐ เนื่องจากโครงการทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาและสภาแขวงก่อนดำเนินการ
เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ที่ประจำสำนักงานในลาว ยอมรับว่าแผนของรัฐบาลนำไปปฏิบัติได้ยากก็จริง แต่ก็ควรเสริมความแข็งแกร่งในการควบคุมงบประมาณแผ่นดิน และทำให้มั่นใจว่าเงินลงทุนและกองทุนที่ใช้ดำเนินการมีความโปร่งใสและไม่มีการรั่วไหล และรัฐบาลควรหยุดการกู้ยืมเงินจากธนาคารต่างประเทศและในประเทศ เพื่อไม่ให้หนี้สินสูงเกินกว่าที่เป็นอยู่