svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

1 ตุลาคม "วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

"วันชาติจีน" 1 ตุลาคมเวียนมาอีกครั้ง ปีนี้ (2565) เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมข่าวต่างประเทศลองประมวลประวัติความเป็นมาและ 5 เรื่องน่ารู้ที่น่าสนใจ ให้คอข่าว ได้ทำความรู้จักชาติมหาอำนาจอย่างประเทศจีนกันให้มากยิ่งขึ้น

“วันชาติจีน” ตรงกับ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี โอกาสที่วันสำคัญนี้เวียนมาอีกครั้งในปีนี้ (2565) นับเป็นการครบรอบ 73 ปีแห่ง การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ จึงขอประมวล 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “วันชาติจีน” มานำเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1) ความเป็นมาโดยสังเขป
 

วันชาติจีน ตรงกับวันที่1ตุลาคมของทุกปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) ซึ่งเป็นวันที่ เหมา เจ๋อตุง ผู้นำจีน ประกาศให้เป็นวันก่อตั้งหรือสถาปนาประเทศจีนที่ปกครองโดยระบบสังคมนิยม ภายใต้ชื่อว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ซึ่งก่อนหน้านั้นจีนมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ นับตั้งแต่ดร.ซุนยัตเซ็นเป็นแกนนำโค่นล้มราชวงศ์ชิง ล้มจักรวรรดิ และก่อตั้ง “สาธารณรัฐจีน” ขึ้นมาพร้อมทั้งจัดตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ในค.ศ.1912 หลังจากปฏิบัติการ "ปฏิวัติซินไฮ่" ในปี1911
 
แต่หลังจาก ดร.ซุนยัตเซ็น เสียชีวิต ในปี 1925 เจียงไคเช็ค ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสาธารณรัฐจีนและพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งภายหลังได้ทำสงครามกลางเมืองแย่งอำนาจปกครองประเทศกับพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีการทำสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันนั้น สาธารณรัฐจีนในเวลานั้น ต้องรับมือกับทัพญี่ปุ่นด้วย ทำให้ในปี1937 ฝ่ายเจียงไคเช็คและเหมาเจ๋อตุง ต้องสงบศึกชั่วคราวหันมาร่วมมือกันทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

กระทั่งกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่2 และถูกขับไล่ออกจากจีนได้สำเร็จในปี1945 ทางฝ่ายเจียงไคเช็คซึ่งเป็นประชาธิปไตย และเหมาเจ๋อตุงซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยม หันกลับมาทำสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันอีกครั้งตั้งแต่ปี1946 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง เป็นฝ่ายรบชนะ ทำให้เจียงไคเช็คพร้อมคณะรัฐบาลสาธารณรัฐในขณะนั้น ต้องลี้ภัยไปที่เกาะไต้หวัน และตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขึ้นมาใหม่ที่นั่น
 
หลังประกาศชัยชนะในสงครามกลางเมืองเมื่อปี1949 (พ.ศ.2492) พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง จึงได้อำนาจปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ และตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จ
 
2)  การประกาศวันชาติและงานเฉลิมฉลอง
พิธีประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน รัฐบาลประชาชนกลางผ่านมติว่าด้วย วันชาติจีน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2492 และประกาศว่าวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันชาติ
 
ปัจจุบัน วันชาติจีน จะมีการเฉลิมฉลองขึ้นทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊า โดยมีการเฉลิมฉลองที่ภาครัฐจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ มีการแสดงพลุดอกไม้ไฟและคอนเสิร์ต มีการตกแต่งสถานที่สาธารณะ เช่น จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งอย่างงดงาม  และจัดแสดงรูปภาพของผู้นำซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เช่น ประธานเหมาเจ๋อตุงตามที่สาธารณะ ทั้งนี้ การจัดแสดงพลุดอกไม้ไฟมักจัดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งฮ่องกงและมาเก๊า

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!

3) วันหยุดราชการและเทศกาลท่องเที่ยว
รัฐบาลจีนกำหนดให้วันชาติจีนของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ รวมวันหยุดทั้งหมดเป็น 7 วัน คือวันที่ 1-7 ตุลาคม ซึ่งเรียกว่า “สัปดาห์ทอง” หรือ Golden Week เป็นเทศกาลวันหยุดที่ยิ่งใหญ่พอๆ กับวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน ในบางปีวันหยุดยาวฉลองวันชาติจีนนั้นอาจได้หยุดติดต่อกัน 10-12 วันเลยทีเดียว เช่นในปี 2015 (พ.ศ.2558)
 
คนจีนหลายล้านคนเลือกที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปี 2019 (พ.ศ.2562) เรามักจะได้เห็นภาพการหลั่งไหลออกท่องเที่ยวของชาวจีนที่สะท้อนจากภาพรถติดยาวเหยียดบนถนนระหว่างเมืองสายต่าง ๆ ในกรณีการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือภาพคลื่นมนุษย์แออัดกันซื้อตั๋ว รอขึ้นรถไฟ-รถโดยสารตามสถานีต่าง ๆ รวมทั้งภาพสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่เนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว

สถิติของ Ctrip บริษัทรับจองบัตรโดยสารเครื่องบินและที่พัก รวมถึงบริการต่างๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวผ่านทางออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของประเทศจีนชี้ว่า ในปี 2562 ก่อนที่โควิดจะอุบัติขึ้น (ช่วงเดือนธ.ค.2562) ญี่ปุ่นและไทย คือจุดหมายปลายทางที่ชาวจีนนิยมมาเที่ยวมากที่สุดในช่วงเทศกาลหยุดยาววันชาติ แต่หลังรัฐบาลจีนประกาศควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเข้มงวด การเดินทางท่องเที่ยวในช่วง “สัปดาห์ทอง” ฉลองวันชาติก็แผ่วลงไปมาก
 
4) วันชาติ “ไต้หวัน” อยู่ในเดือนตุลาคมเช่นกัน
นอกจากวันชาติจีนแล้ว เดือนตุลาคมยังมีวันชาติไต้หวัน หรือวันชาติสาธารณรัฐจีน ที่เรียกว่า “วันดับเบิลเท็น” (วันสองสิบ) ตรงกับวันที่ 10
 
ที่เรียกว่า “วันดับเบิลเท็น” หรือ “วันสองสิบ” นั้นหมายถึง วันที่ 10 เดือน 10 (ตุลาคม) นั่นเอง เป็นการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เดือน 10 ปี ค.ศ. 1911 ซึ่งมีการก่อเกิดกลุ่ม “อู่ชาง” ขึ้นเพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิง อันนำไปสู่ “การปฏิวัติซินไฮ่” ในเวลาต่อมา
 
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง เป็นการสิ้นสุดการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่มียาวนานกว่า 5,000 ปี และเริ่มต้นการปกครองประเทศแบบ "สาธารณรัฐจีน" โดยดร.ซุน ยัตเซ็น ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวคนแรกของสาธารณรัฐ
 
“วันดับเบิลเท็น” หรือ “วันสองสิบ” จึงได้กลายเป็นวันชาติของสาธารณรัฐจีนตลอดที่ปกครองในแผ่นดินใหญ่
 

แต่ในปี 1949 (พ.ศ. 2492) เมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมือง และสูญเสียการควบคุมจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนจะอพยพไปยังเกาะไต้หวัน การฉลองวันสองสิบ ซึ่งภายหลังได้มีการเรียกกันอย่างย่อๆว่า “วันชาติไต้หวัน” จึงเฉลิมฉลองแต่เฉพาะในไต้หวันเป็นหลัก
 
ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ชนะสงครามกลางเมืองและได้สถาปนา "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ขึ้นปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ จึงได้เปลี่ยนวันชาติมาเป็นวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีแทน “วันสองสิบ” ที่เป็นวันชาติช่วงรัฐบาลสาธารณจีนมีอำนาจในแผ่นดินใหญ่

5) หลังฉลองวันชาติ จับตาการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน 
เมื่อสิ้นสุดช่วงวันหยุดยาวเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติจีน (1-7 ต.ค.) แล้ว ยังจะมีอีกวาระเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ นั่นก็คือ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี และไฮไลท์ของประชุมสมัชชาฯ ครั้งนี้ คือคาดว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมา 2 สมัย รวมเวลา 10 ปี จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 ได้ครองอำนาจปกครองประเทศอีก 5 ปี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเนื่องจากรัฐธรรมนูญเดิมระบุไว้ว่า วาระดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีเวลาจำกัดสูงสุดเพียง 10 ปีหรือ 2 สมัยเท่านั้น กระทั่งสภาประชาชนแห่งชาติจีนลงมติในปี 2018 (พ.ศ.2561) ผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนด
 
ซึ่งมติครั้งนั้น ได้เปิดทางให้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถครองเก้าอี้ผู้นำจีนได้ตลอดชีพ

1 ตุลาคม \"วันชาติจีน” กับ 5 เรื่องที่คอข่าวตัวจริงต้องรู้!!