‘เพลงแรป’ หนึ่งในกระแสวัฒนธรรมดนตรีของฝั่งอเมริกา แม้ในระยะแรก จะไม่เป็นที่สนใจของแฟนเพลงชาวไทยเท่าไหร่นัก แต่พอนานวัน เพลงแรป กลับมีคำตอบอะไรบางอย่างให้กับสังคม ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ด้วยภาษาที่ง่าย ตรงไปตรงมา พร้อม ๆ กันนั้นก็ถูกมองว่าใช้ภาษารุนแรง ไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมวงกว้าง หรือก้าวมาเป็นเพลงกระแสหลักได้
แต่ภายหลังจากการเปิดเวทีเผยแพร่สู่สาธารณะ อย่าง Rap Is Now และ The Rapper รายการแข่งขันที่ให้แรปเปอร์ทั่วประเทศได้ออกมาตะโกนในสิ่งที่พวกเขาอยากให้สังคมภายนอกรับรู้ ได้ทำให้เพลงที่อยู่ในความสนใจเฉพาะกลุ่ม ขยับขึ้นมาเป็นที่พูดถึงอย่างมากในเวลาต่อมา
สนามใหญ่เหล่านี้ ไม่เพียงจะเป็นพื้นที่ให้ชาวแรปได้มีที่ทาง ‘ปล่อยของ’ เท่านั้น ยังทำให้คนทั่วไปเห็น ‘คุณค่า’ ของเพลงแนวนี้ และแน่นอนว่าเมื่อสังคมยอมรับ ทุกคนก็จะได้ยินเสียงที่แรปเปอร์อยากจะบอกออกมาด้วย
ขณะที่แรปเปอร์บางคน อาจเริ่มต้นด้วยการไต่อันดับเพื่อให้ได้เงินรางวัล และการยอมรับ แต่เมื่อพวกเขาเข้าใจว่า ‘เครื่องมือ’ ชนิดนี้ทำให้คนหันมาสนใจได้ จุดเปลี่ยนที่คิดแค่เงิน ก็หันมาทำเพลงเพื่อชุมชนที่เขาอยู่ ประเทศที่เขารัก รวมไปถึงโลกที่พวกเขาอยากเห็นก็พรั่งพรูออกมา เมื่อกระจกบานใหญ่ได้ฉายภาพอีกมุมหนึ่งของประเทศชัดขึ้น แน่นอนว่าเราจะเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะย่านชุมชนคลองเตย พื้นที่แออัดขนาดใหญ่ในประเทศ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนในนั้นได้ถูกสังคมด้อยค่าต่างๆ นานา โดยที่ไม่แม้แต่เปิดใจมองให้ลึกลงไป
แต่ทว่า สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นวัตถุดิบอย่างดี ที่ชาวแรปในพื้นที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวให้คนภายนอกได้รับรู้ ซึ่งสิ่งที่ได้ยินผ่านเพลงแรป คือคนคลองเตยไม่ใช่ขี้ยาอย่างที่หลายคนเข้าใจ พี่น้องในที่นี้ ต่างต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด ไม่ต่างจากคนอื่นๆ และมีเด็กอีกไม่น้อย ที่จะไม่ ‘ยอมแพ้’ ให้กับคำกล่าวหาแบบเหมารวมเหล่านั้น
ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นเนื้อในของชุมชน แต่พวกเขายังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา การศึกษา ปัญหาการความเป็นอยู่ ปัญหาเรื่องสาธารณสุข พร้อม ๆ ไปกับความหวังที่จะเห็นผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาให้ได้สักที แม้ เพลงแรป จะมีข้อหาถึงความหยาบและรุนแรง หรือการเรียกร้องอย่างถึงแก่น แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในเมื่อเรามีแนวเพลงทุกเพลงที่จะรับใช้อารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีทั้ง เศร้า รัก ดีใจ เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง แล้วเราจะมี เพลงแรป ที่เต็มไปด้วยความโกรธไม่ได้หรือ
คำหยาบ หรือคำสบถที่ปรากฏขึ้นมาในเพลงแรป เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้แต่งและผู้ร้องออกมา เพื่อสื่อสารออกมาให้ตรงที่สุดในสถานการณ์ที่พูดถึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงแรปทุกเพลง จะต้องมีคำหยาบตลอดเวลา เป็นเพียงรสชาติหนึ่งของการระบายอารมณ์และระบายคำเท่านั้น
จะว่าไป เพลงแรปมีเสน่ห์ในตัวเองมากมาย เพราะเพลงแรปมีความลื่นไหลสูง มีการเรียงเป้าหมายของแต่ละประโยคทางดนตรี มีคำสัมผัส มีท่อนวลีฮิต ๆ ที่เรียกว่า Punch line หรือคำเด็ดโดนใจ มีกลไกของการใช้จังหวะมาประกอบ การเว้นวรรคเพื่อให้คนเฮและมีส่วนร่วม การมีปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างคู่ต่อสู้กับคนดู ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสรรค์จากตัวศิลปินเองทั้งสิ้น
ถึงแม้ว่าเพลงแรป จะมีต้นกำเนิดจากการต่อต้านทางสังคมของกลุ่มชนชายขอบ ซึ่งก็คือคนละตินอเมริกา หรือคนผิวสี จนเมื่อเพลงแรปไหลบ่าไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งบ้านเรา จะเห็นว่าแรปไม่เคยหายไปจากวงการเพลงเลย แต่ได้มีการนำเอาไปใส่ไว้ในเพลงต่าง ๆ มากมาย เช่น สอดแทรกในเพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงอันเดอร์กราวด์
จนกระทั่งในวันนี้ เพลงแรป ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมนหลักไปแล้ว เราจึงเห็น “มิลลิ” (Milli) แรปเปอร์สาว ยกข้าวเหนียวมะม่วงไปกินโชว์กลางเวทีในงาน Coachella บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และสังคมไทยอย่างน่าชื่นชม เพลงแรป เป็นเหมือนรายงานข่าว บันทึกเรื่องราวของยุคสมัย บอกเล่าความเป็นไปที่เกิดในสังคม คนฟังอาจไม่ชอบใจทุกคน จากเนื้อหา ภาษา และวัฒนธรรมที่อาจจะดูแปร่ง ก็ต้องลองถามใจกันดูแล้วละ ว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราจะเอามาตัดสินหรือไม่
ที่มา SOME ONE