นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยภายหลังการลงนาม ร่วมกับ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีว่า
บริษัทฯ จะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากรและลดภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ สำหรับการนำเข้ารถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (BEV) ในปี 65-66 และผลิตรถยนต์ BEV ในปี 65-68
ทั้งนี้จากการลงนามในครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และผู้นำเข้าลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว 12 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ 9 ราย และรถจักรยานยนต์ 3 ราย
ซึ่งหลังจากนี้ทางเบนซ์จะต้องกลับไปทำแผนเกี่ยวกับรุ่นรถยนต์ และโครงสร้างราคารถยนต์ที่จะเข้าร่วมมาตรการมาเสนอให้กรมฯ พิจารา ซึ่งหากราคาขายเกิน 2 ล้านบาทต่อคัน บริษัทจะได้รับสิทธิ์การลดอัตราภาษีจาก 8% เหลือ 2%
แต่ถ้าราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็จะได้รับเงินอุดหนุนด้วย 1.5 แสนบาทต่อคันด้วย ส่วนรายต่อไปที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมมาตรการเร็ว ๆ นี้ คือฮอนด้า ขณะที่ค่ายเทสร่านั้น กำลังติดต่ออยู่ว่าสนใจจะเข้าร่วมมาตรการหรือไม่
สำหรับความคืบหน้าในการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์แล้ว 1 ครั้ง จำนวน 540 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนจำนวน 81 ล้านบาท
นอกจากนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ ครั้งที่ 2 จำนวน 1,297 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุน 194.5 ล้านบาท คาดว่าจะมียอดจองและยอดขายรถยนต์และรถจักร ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการ ภายในสิ้นปี 65 ทั้งหมด 2.5 หมื่นคัน
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า ค่ายรถยนต์ฮอนด้า พร้อมประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 66 และคาดว่าจะเข้ามาลงนามกับกรมฯ ได้เร็ว ๆ นี้
โดยกรมฯ คาดว่าภายในปีหน้ายอดจองรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคัน ซึ่งกรมฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับรถยนต์ที่ส่งมอบและจดทะเบียนถูกต้องกับกรมขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้กรมฯ เตรียมจะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อขอจัดสรรงบประมาสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนให้รถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ ในปีงบประมาณ 67- 68 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่ คาดว่าจะขอรับเงินอุดหนุนอีกไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคัน จากก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติวงเงิน 3 พันล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนรถยนต์อีวีที่เข้าร่วมโครงการ
ซึ่งวงเงินดังกล่าว คาดว่าจะเพียงพอสำหรับดำเนินการถึงสิ้นปีงบประมาณ 66 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งมอบเรียบร้อยแล้วไม่เกิน 2 หมื่นคัน โดยมีการประเมินว่าตั้งแต่ปี 64-68 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล 1 แสนคัน
ส่วนกรณีที่คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วและไม่สามารถผ่อนชำระได้ ว่า กรมฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกเงินคืนจากคนซื้อ เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนเป็นการหัก โดยตรงกับผู้ประกอบการ ซึ่งต่างจากโครงการรถคันแรก ที่เป็นการให้เงินชดเชยคืนให้กับผู้ซื้อรถยนต์โดยตรง
ดังนั้นในกรณีของมาตรการรถยนต์อีวีเมื่อมีการหักไปแล้ว แม้จะนำรถไปขายต่อก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะเป็นเรื่องของกลไกตลาด และเป็นสิทธิ์ของคนซื้อรถมือ 2 ที่จะต้องได้รถในราคาที่หักเงินชดเชยออกไปแล้ว