ดังนั้นเมื่อราคา LPG ในตลาดโลกพลิกกลับมาเป็นทิศทางขาขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ที่ราคา LPG อยู่ในระดับ 620 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (ประมาณ 19.93 บาทต่อกิโลกรัม) จนแตะระดับ 950 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (ประมาณ 32.55 บาทต่อกิโลกรัม) ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งส่งผลกระทบให้ต้นทุนการจัดหา LPG ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 11.22 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากกลไกราคา LPG ของประเทศไทยมีการอุดหนุนเพื่อควบคุมระดับราคาขายปลีกของ LPG ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อประชาชนไม่ให้สูงจนเกินไป การปรับขึ้นลงของราคาขายปลีก LPG ของไทยจึงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดโลก
ราคา LPG ไทยต่ำสุดอันดับ 2 ในอาเซียน แม้จะเริ่มปรับราคาขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2565
กลุ่มประเทศอาเซียนมีราคาขายปลีก LPG แตกต่างกันไปตามนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศ ซึ่งจากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีราคาขายปลีก LPG สูงที่สุดในอาเซียน หรือประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยประเทศเวียดนาม และประเทศลาวที่ 56.54 และ 40.11 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีราคาขายปลีก LPG ต่ำที่สุดในอาเซียนที่ 15.44 บาทต่อกิโลกรัม รองลงมาคือประเทศไทยที่มีราคาขายอยู่ที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นภายหลังรัฐบาล ได้ตัดสินใจปรับราคาจากเคยตรึงไว้ที่ 18.87 บาทต่อกิโลกรัมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อให้ระดับราคามีความสอดคล้องกับสถานการณ์ราคา LPG ในตลาดโลก
ทำความเข้าใจในโครงสร้างราคาและบทบาทของกองทุน LPG
ความแตกต่างของราคาขายปลีก LPG ในประเทศอาเซียนนั้น นอกจากความแตกต่างในกลไกการจัดหา LPG แล้วยังมีความแตกต่างตามนโยบายจัดเก็บภาษี กองทุน และการอุดหนุนราคาของแต่ละประเทศอีกด้วย เฉพาะโครงสร้างราคา LPG ของประเทศไทย หากคำนวณจากราคา LPG ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีราคาขายปลีกที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม โครงสร้างราคาประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่นอยู่ที่ 27.48 บาทต่อกิโลกรัม ภาษีสรรพสามิต 2.17 บาทต่อกิโลกรัม ภาษีเทศบาล 0.22 บาทต่อกิโลกรัม กองทุน LPG (อุดหนุน) -12.69 บาทต่อกิโลกรัม ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.20 บาทต่อกิโลกรัม ค่าการตลาดผู้ค้าปลีก 3.26 บาทต่อลิตร ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.23 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาขายปลีก LPG ได้รับการอุดหนุนจากกลไกกองทุน LPG เป็นสัดส่วนที่มากจนทำให้ราคาขายปลีกต่ำกว่าต้นทุนเนื้อ LPG หรือราคา ณ โรงกลั่นเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน
การเปรียบเทียบความแพงของ LPG กลุ่มประเทศในอาเซียน
อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบความถูกหรือแพงของราคาขายปลีก LPG ของแต่ละประเทศในอาเซียน ที่เหมาะสมและเท่าเทียมนั้น คงไม่สามารถเปรียบเทียบผ่านราคาขายปลีกเพียงมิติเดียว เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีนโยบายในการบริหารพลังงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปรียบเทียบที่เหมาะสมและเท่าเทียมควรต้องสะท้อนให้เห็นถึงราคาที่มีความสัมพันธ์กับรายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนควบคู่กันไปด้วยและเมื่อสะท้อนอันดับความถูกหรือแพงของราคา LPG ของแต่ละประเทศโดยการเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ต่อหัวประชากรต่อราคา LPG พบว่าประเทศเมียนมาร์มีราคา LPG ที่แพงที่สุด
แม้ว่าราคาขายปลีก LPG ที่ 37.60 บาทต่อกิโลกรัมจะสูงเป็นอันดับ 4 แต่ประชากรเมียนมาร์มีรายได้เพียง 111 บาทต่อหัวต่อวัน จึงมีกำลังซื้อ LPG ได้เพียง 3 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น และประเทศมาเลเซียที่มีราคาขายปลีก LPG ที่ถูกที่สุดของอาเซียน โดยมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.44 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประชากรมีรายได้ 1,067 บาทต่อหัวต่อวัน สามารถซื้อ LPG ได้ 69.1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 4.6 ถัง (ขนาดถัง 15 กิโลกรัม) ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศที่มีราคา ขายปลีก LPG ถูกที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศมาเลเซีย โดยมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประชากรมีรายได้ 679 บาทต่อหัวต่อวัน สามารถซื้อ LPG ได้ 31 กิโลกรัม หรือประมาณ 2 ถัง (ขนาดถัง 15 กิโลกรัม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาขายปลีก LPG ของประเทศไทยถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ทั้งในแง่ของราคาขายปลีกโดยตรงและเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ราคาขายปลีก LPG ของประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน เนื่องจากภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทในการลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาตามกลไกตลาดโลกในระดับที่มากพอสมควร ในขณะที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางด้านพลังงานยังคงเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของหลายประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและลงมือทำได้ทันทีก็คือ การตระหนักในคุณค่าและการร่วมมือกันใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
https://tabsoft.co/3TGsC1f ร่วมตอบแบบสอบถามความเข้าใจเนื้อหาบทความ และ Dashboard ได้ที่ https://forms.gle/wEP3eX188nCGP6Hy8
บทความที่เกี่ยวข้อง