svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ฝากขัง 3 คนไทย กก.“ไชน่า เรลเวย์” ลุ้นได้ประกันเหมือนคนจีนหรือไม่

22 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ฝากขัง 3 คนไทย กรรมการ “ไชน่า เรลเวย์” ลุ้นได้ประกันเหมือนคนจีนหรือไม่! โฆษกดีเอสไอเปิดข้อมูล 3 เจ้าสัวเข้าถือหุ้นบริษัทจีนได้อย่างไร

22 เมษายน 2568 ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ (ปพ.) ได้ควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาชาวไทยในคดี นอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เพื่อไปฝากขังผัดแรกกับศาลอาญารัชดาภิเษก

โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามผู้ต้องหา นายประจวบ ศิริเขตร ว่ามีสิ่งใดอยากปฏิเสธหรือไม่ และได้เข้าไปนั่งเป็นนอมินีให้บริษัทจริงหรือไม่ หรือยืนยันว่า เข้าไปบริหารเองจริง ๆ หรือมีใครบังคับให้เข้าไปนั่งตำแหน่งนั้นหรือไม่

ต่อมาในส่วนของ นายมานัส ศรีอนันท์ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามอีกว่า มีอะไรอยากพูดหรือไม่ ขณะที่ นายโสภณ มีชัย ผู้สื่อข่าวก็ได้ถามอีกว่า ได้เข้าไปถือหุ้นจริงหรือไม่ หรือมีใครบังคับให้ต้องพูดอะไรหรือไม่ รวมถึงในวันที่ตึก สตง. ถล่ม ทุกคนไปอยู่ที่ไหนกันมา หนีไปอยู่ที่ไหน มีใครให้ที่พักพิงหรือไม่ หรือเหตุใดก่อนหน้านี้ไม่ยอมมาเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น แต่ทั้ง 3 ผู้ต้องหาก้มหน้ารับฟังคำถามอย่างเดียว ไม่เอ่ยปากตอบคำถามใดกับผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาได้ถูกใส่กุญแจมือและใช้ผ้าปิดคุมไว้เพื่อป้องกันกรณีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีสภาพอิดโรย และยังสวมใส่เสื้อผ้าตัวเดิมกับเมื่อวานนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ ปพ. ได้คุมตัวขึ้นรถตู้เอนกประสงค์ 2 คัน ออกจากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปยังศาลอาญารัชดาภิเษก
นายประจวบ ศิริเขตร นายประจวบ ศิริเขตร
 

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ 3 ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในภาพรวม ได้มีผู้ต้องหา 1 ราย คือ นายโภณ มีชัย ที่ยอมให้การ ขณะที่อีก 2 ราย คือ นายประจวบ ศิริเขตร และนายมานัส ศรีอนันท์ แจ้งความประสงค์ขอชี้แจงเป็นเอกสารภายใน 30 วัน โดยการชี้แจงผ่านหนังสือจะไม่ได้มีผลต่อรูปคดี เพราะผู้ต้องหาย่อมให้การอย่างไรก็ได้ แต่ทุกคำให้การจะถูกนำมาพิสูจน์ทั้งหมด

โดยประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติม คือ การถือหุ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและผู้ถือหุ้น รวมถึงที่มาของเงินที่ใช้ในการลงทุน และอำนาจทางการบริหาร อย่างไรก็ตาม ระหว่างข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้การกับข้อมูลที่ดีเอสไอรวบรวมมานั้น พบว่าบางส่วนไม่ตรงกัน ทั้งนี้ เหตุใดก่อนหน้านี้ทั้ง 3 รายไม่ยอมเข้ามาพบดีเอสไอก่อนมีหมายจับของศาล เราได้สอบถามประเด็นนี้ แต่พวกเขาไม่ตอบ แต่เขาแจ้งว่าพอเห็นหมายจับจึงเข้ามาพบพนักงานสอบสวน และไม่ได้ให้ข้อมูลว่าไปอาศัยอยู่ด้วยกันหรือไม่
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ

พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า สำหรับความสัมพันธ์รู้จักกันของ 3 กรรมการชาวไทย และชาวจีน 2 ราย อย่าง นายบินลิง วู และ นายชวนหลิง จาง นั้น มีการให้ข้อเท็จจริงว่า รู้จักกันโดยเฉพาะในส่วนของนายประจวบ และนายมานัส ที่ทำงานกับบริษัทอื่น ที่มีคนจีนไปเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ทั้งนายประจวบ และนายมานัส ไม่ได้เริ่มต้นจากการเข้ามาเกี่ยวข้องใน บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แต่ไปเริ่มต้นกับบริษัทอื่นมาก่อน ถ้าจำไม่ผิดคือ บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ส่วนใครเป็นคนชวนให้เข้ามาเป็นกรรมการและถือหุ้นนั้น ในคำให้การกล่าวอ้างของนายโสภณ มีชัย เจ้าตัวระบุว่า นายประจวบ และนายมานัส คือผู้ชักชวน แต่คำให้การของผู้ต้องหา ต้องนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ในการสอบปากคำนายโสภณ มีชัย ระหว่างการสอบสวนปากคำ เจ้าตัวมีการตอบเอง แต่บางครั้งทนายความก็จะช่วยอธิบายคำถามบ้าง เพราะบางทีบางประเด็นเขาอาจเข้าใจไม่ละเอียด นอกจากนี้ ในประเด็นของการถือหุ้นของทั้ง 3 ราย พบว่าหุ้นมันมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 61-68 มีการสลับเพิ่ม-ลง

พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า ตอนนี้เราแบ่งเงินที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินลงหุ้น และเงินที่กู้ยืมมาเพื่อทำธุรกิจ ตรงส่วนนี้ เราจะไล่ย้อนหลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน ดังนั้น เส้นทางการเงิน จะสอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ ต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนตรวจสอบก่อน เพราะเพิ่งได้รับข้อมูลรายงาน “รายได้และเงินคงค้างในบัญชีของ 3 กรรมการชาวไทย ดีเอสไอพอมีข้อมูลว่า เป็นเงินจำนวนไม่เยอะ บางคนเหลือเงินติดบัญชีแค่หลักหมื่นบาท” โฆษกดีเอสไอ ระบุปิดท้าย

 

logoline
News Hub