22 เมษายน 2568 เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน นัดอ่านคำพิพากษา คดีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบหมายเลขดำ อท 131/2567 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กับพวกรวม 8 คนเป็นจำเลย
ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 200, 83, 86 พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,192
สำหรับคดีดังกล่าว เป็นกรณีที่จำเลยทั้งหมด ร่วมกันกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในคดี คำให้การพยาน ความเร็วรถยนต์ฯ เพื่อช่วยเหลือ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา เพื่อให้พ้นผิด หรือรับโทษน้อยลง ที่นายวรยุทธขับรถสปอร์ตหรูปอร์เช่ เฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 3 กันยายน 2555
จำเลยทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวคนละ 2 แสนบาท สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย
หลังศาลอ่านคำพิพากษา 3 ชั่วโมง เอกสารประมาณ 140 หน้า ศาลรับฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อ เดือนกันยายน 2567 ใช้เวลาพิจารณประมาณ 5 เดือน พยานเอกสารกว่า 4 หมื่นแผ่น โจทก์ยื่นพยานมา 100 ปาก แต่ศาลคัดไว้ประมาณ 26 ปาก พร้อมรับพยานวัตถุ 4-5 ชิ้น
และในการฟังคำพิพากษาวันนี้ศาลอนุญาตให้จำเลยนั่งฟังคำพิจารณา เนื่องจากใช้เวลาอ่านคำพิพากษานาน ประกอบกับมีจำเลยสูงอายุ
ศาลพิเคราะห์ว่า นายชัยณรงค์ จำเลยที่ 4 เข้าไปโดยอวดอ้างตน “ขอความกรุณา ไม่ให้เกิน 80 เพราะตามกฎหมายไม่ให้เกิน 80” ซึ่งทุกคนในห้องได้ยินชัยณรงค์กล่าวอ้างสถานะและบทบาทหน้าที่การเป็นอัยการ ศาลมองว่าชัยณรงค์ใช้สถานะตัวเองแทรกแซงพนักงานสอบสวนไม่ให้ทำหน้าที่อิสระ เป็นการกระทำความผิดส่วนตัว
ส่วนนายเนตร จำเลยที่ 8 อดีตรองอัยการสูงสุด ศาลพิจารณา ว่า ใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีโดยมิชอบ มีเจตนาช่วยเหลือนายวรยุทธให้ได้รับโทษน้อยลง จากการรับฟังพยาน 2 ปากที่ได้มาให้การใหม่เรื่องความเร็วรถซึ่งผ่านมานานแล้ว ทำให้คำให้การของพยานไม่น่าเชื่อถือ แต่จำเลยที่ 8 ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ทั้งที่ตัวเองเป็นอัยการระดับสูง ควรต้องใช้ดุลยพินิจโดยรอบคอบ อีกทั้งศาลเห็นว่าจำเลยที่ 8 วินิจฉัยคดีโดยไม่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ทั้งที่ควรนำตัวนายวรยุทธ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรอัยการเสียหาย
พิพากษาว่าจำเลยที่ 4 มีความผิด ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ.2561 มาตรา 172 สั่งจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สั่งจำคุก 3 ปี
ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-3 และ 5-7 แต่ให้ออกหมายขัง จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 ระหว่างอุทธรณ์ โดยขณะนี้จำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก เเละให้ขังระหว่างอุทธรณ์อยู่ระหว่างยื่นประกันตัว
สำหรับคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ทำความเห็นเเย้งขอให้ลงโทษจำเลยทุกคน