21 เมษายน 2568 เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 3 ผู้ถือหุ้นคนไทย ของของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ นายมานัส ศรีอนันท์ , นายประจวบ ศิริเขตร และนายโสภณ มีชัย เดินทางขอเข้ามอบตัว กับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ภายหลังศาลอาญาออกหมายจับ ในข้อหา พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ นอมินี จากกรณีปรากฎมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น และกรรมการฯ ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ
โดยทนายความของนายมานัส ได้เดินทางนำเอกสารชี้แจงข้อมูล และให้สัมภาษณ์สั้นๆ ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน ว่า ตนเองเป็นทนายความให้นายมานัส โดยนำเอกสารมาชี้แจง เบื้องต้นทราบว่า วันนี้มาทั้ง 3 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น นอมินี ของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ และยืนยันว่า ทั้ง 3 ราย ไม่ได้เป็นนอมินี ทั้งนี้ให้ตนเองได้เข้าไปรับฟังข้อมูล และนำเอกสารไปชี้แจงก่อน แล้วจะให้รายละเอียดอีกครั้ง แต่ไม่ได้ตอบคำถามว่า ได้นำหลักทรัพย์ประกันตัว รวมถึงจะหักล้างอย่างไร เมื่อข้อมูลของดีเอสไอ กรณีกล่าวหาเป็นนอมินีอย่างไร
จากนั้น พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยความคืบหน้าการสอบปากคำ ว่า วันนี้มามอบตัวครบทั้ง 3 คน เบื้องต้นให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งขณะนี้ยู่ในระหว่างการสอบปากคำ โดยประเด็นหลักๆ พนักงานสอบสวนจะมุ่งสอบปากคำ ในเรื่องของเงินทุนและอำนาจการดำเนินกิจการ ทั้งนี้ต้องรอดูคำให้การของทั้ง 3 คนก่อนว่า จะมีการหักล้างหรือชี้แจงอย่างไร
จากพยานหลักฐานพบว่า ทั้ง 3 คนไทยรู้จักกันในวง แต่เบื้องต้นพบการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างนายประจวบ กับ นายโสภณ ส่วนจะรู้จักกับกลุ่มคนจีนหรือไม่นั้น ต้องทำการสอบสวนขยายผลก่อน แต่จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ทั้ง 3 คนไทยประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยนายโสภณ ทำเครื่องแก้ว และคนอื่นๆ มีการประกอบอาชีพค้าขาย
ส่วนกรณีเรื่องเงินหมุนเวียนของกรรมการในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่พบมาเงินอยู่จำนวน 2,800 ล้านบาทนั้น พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า จากการตรวจสอบ เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของฝั่งกลุ่มคนไทย แต่เป็นเงินที่ฝั่งคนจีน กู้ยืมมา โดย พ.ต.ต.วรณัน อธิบายให้เข้าใจว่า เงินที่เกี่ยวข้องกับ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จะมีทั้งหมด 3 ส่วน
ส่วนแรกคือ เงิน 2,800 ล้านบาท จากการตรวจสอบงบการเงิน ระหว่างปี 61-68 ของทางบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด นั้น บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) ได้กู้ยืมเงินระยะยาวมาจากบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ผ่านธนาคารของต่างประเทศ โดยบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน โดยโอนเงินตรงเข้ามายังบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) จำกัด เลย
ซึ่งเงินก้อนนี้ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) จำกัด นำมาใช้ลงทุนและประกอบกิจการในประเทศไทย
ส่วนที่ 2 คือ เงินที่ เป็นหุ้นส่วนของชาวจีน 49% ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) จำกัด จากเงินเริ่มต้น 22ล้าน แล้วเพิ่มเป็น 47 ล้านนั้น จะต้องไปทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า นายชวนหลิง จาง กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) เอาเงินมาจากที่ใด หรือเป็นเงินที่มาจากผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนีลิมิเต็ด จำกัด หรือไม่ หรือมีที่มาที่ไปของเงินจากที่ใด
ส่วนที่ 3 คือ เงินของฝั่งคนไทย ที่เป็น กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 (ประเทศไทย) 3 คน ซึ่งถือหุ้นรวม 51% พบว่า มีการชำระค่าหุ้นคนละ 25% หรือประมาณ 10 กว่าล้าน ซึ่ง 3 คนรวมกันชำระค่าหุ้นประมาณ 20 กว่าล้านบาท
ส่วนกรณีที่ นายชวนหลิง จาง มีการอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของประเทศจีน แล้วถูกส่งมาลงทุนในไทย ในนามรัฐบาลจีน นั้น เบื้องต้นได้ทำการตรวจสอบแล้วยืนยันว่า เป็นรัฐวิสาหกิจจริง ทั้งนี้ทั้ง 3 คนมีทนายความมาด้วย โดยทราบว่า เป็นทนายความส่วนตัวไม่ใช่ของบริษัท โดยขณะนี้ ทั้ง3คนยังอยู่ระหว่างการแยกสอบปากคำ