จากกรณีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สส.สตม. ได้ร่วมกันแถลงจับกุมตัว นายชวนหลิง จาง (Mr.Chuanling Zhang) สัญชาติจีน กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้การอำนวยการของนายวิทวัส สุคันธรส ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว นำโดย นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าว และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้จับกุมตัว นายชวนหลิง จาง ในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนนิติบุคคล ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2389/2568 ลงวันที่ 18 เม.ย.68 คดีพิเศษที่ 32/2568 ในข้อหา เป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยจับกุมได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ก่อนควบคุมตัวมายังอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นำส่งพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี สอบสวนปากคำตามขั้นตอน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.68
เบื้องต้นนายชวนหลิง จาง ให้การยอมรับว่า รู้จักกับนายบินลิง วู พร้อมบอกสถานะความแตกต่างด้วยว่า นายบินลิง วู เหมือนคนนอกมากกว่า เพราะไม่ใช่คนของรัฐบาลจีน หรือรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งแตกต่างจากนายชวนหลิง จาง ที่เป็นผู้แทนของรัฐวิสาหกิจของจีนให้มาลงทุนในไทย อีกทั้งกรณีของนายบินลิง วู ตามรายงานการสอบสวนของดีเอสไอ พบว่า มีการเข้าไปถือหุ้นในหลายบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนใช้คนไทยกลุ่มเดียวกันไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัท ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่พบว่านายบินลิง วู จะเกี่ยวข้องกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ โดยตรง แต่ก็พบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องของ 3 คนไทย ที่ไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทในที่ต่าง ๆ จึงต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นที่ประจักษ์ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ยังมีรายงานการสอบสวนของดีเอสไอปรากฏด้วยว่า กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คนแรกไม่ใช่ นายชวนหลิง จาง แต่คือ นายตง เซี่ย
21 เมษายน 2568 ล่าสุุด ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ควบคุมตัว นายชวนหลิง จาง (Mr.Chuanling Zhang) สัญชาติจีน กรรมการผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มไปขอศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฝากขังผัดแรก
ภายหลังเดินทางมาถึงศาลอาญา นายชวนหลิง จาง มีสีหน้านิ่งเฉยปฏิเสธตอบคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องได้ว่าจ้างคนไทย 3 คน ให้มาเป็นนอมินีจัดตั้งบริษัทจริงหรือไม่
ทั้งนี้ หลังการสวบสวนเข้มนานหลายชั่วโมง การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากดีเอสไอมองว่าคดีมีผลกระทบกว้างและเป็นคนต่างชาติ เกรงว่าจะหลบหนี ดังนั้นเมื่อศาลให้หมายจับ จึงให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของจีนจริงๆ ที่ถูกส่งมาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน ถือหุ้นในบริษัท 49% ส่วนที่คนไทยถือหุ้นนั้นไม่ทราบรายละเอียด ให้การเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ยอมรับว่ารู้จักกรรมการคนไทยทั้ง 3 คน แต่ไม่ให้การเกี่ยวกับการจ้างคนไทยเป็นนอมินีหรือไม่ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นรายละเอียดในสำนวน
จากการสอบปากคำมีจุดเชื่อมต่อที่เจ้าหน้าที่ต้องเร่งไปขยายผลพอสมควร รวมถึงประเด็น กรรมการคนไทยไปกู้ยืมเงิน 2,000 ล้านบาท กับคนจีน ด้วยว่าแหล่งเงินดังกล่าวมาจากที่ใด ซึ่งดีเอสไอกำลังอยู่ระหว่างไล่ดูเส้นทางการเงินของกรรมการคนไทยทั้ง 3 คน ซึ่งก็พบว่าทั้ง 3 คน ไม่ได้มีสถานะทางการเงินเพียงพอจะดำเนินธุรกิจ หรือมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนี้โดยตรง
ส่วนการติดตามจับกุมกรรมการคนไทยทั้ง 3 คนนั้น ดีเอสไอมีเบาะแสที่เชื่อว่ายังอยู่ในประเทศไทย อยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมตัว จริงๆ แล้ว ดีเอสไอเพียงต้องการให้ทั้ง 3 คนเข้าให้ข้อมูล เพราะต้องการทราบว่าทั้ง 3 คน ทำหน้าที่อะไรในบริษัท เพื่อจะต่อภาพจิ๊กซอว์ทั้งหมดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อเจ้าตัวไม่มีใครมาแสดงตัว และข้อเท็จจริงเพียงพอให้ออกหมายจับ ดีเอสไอต้องขอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวทั้ง 3 คน มาซักถามข้อมูล
ทั้งนี้ดีเอสไอเป็นระบบฟังความสองฝ่าย พยานหลักฐานที่ได้จากผู้กล่าวหาในชั้นกล่าวหา ก็เป็นหลักฐานพอที่จะสามารถนำไปออกหมายจับได้ หลังจากนั้นดีเอสไอก็จะรับฟังความและพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาเช่นกัน ว่าจะมีคำอธิบายหรือหลักฐานอย่างไรมาหักล้างคำกล่าวหาหรือไม่ หากหักล้างได้ ก็สั่งไม่ฟ้อง แต่หากหักล้างไม่ได้ก็ต้องฟ้อง