12 เมษายน 2568 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้ การอำนวยการโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. ร่วมกันจับกุม น.ส.ฤทัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมเชิงซ้อนรายสำคัญ ตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 12 มีนาคม 2568 ในข้อหา “ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าหอพัก ในจังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ น.ส.ฤทัย ก่อเหตุด้วยพฤติการณ์แนบเนียน ซับซ้อนหลายชั้น ปลอมโฉนด ปลอมมอบอำนาจ หลอกซ้ำซ้อน จากการสืบสวนขยายผลพบว่า น.ส.ฤทัย เป็นหนึ่งในแกนนำขบวนการมิจฉาชีพปลอมแปลงเอกสารที่ดิน โดยใช้หลายกลยุทธ์ที่แนบเนียนเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วประเทศ
หนึ่งในพฤติกรรมหลักคือการ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทปล่อยเงินกู้ หลอกให้เหยื่อร่วมลงทุน พร้อมนำโฉนดปลอมมาใช้เป็นหลักประกันในการจำนอง รวมถึงเสนอผลตอบแทนเป็น “ค่าดำเนินการ” หรือดอกเบี้ยสูงเพื่อจูงใจ
นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังมีพฤติการณ์ นำโฉนดที่ดินที่ได้จำนองมาจากบุคคลหนึ่งไปหลอกขายให้กับผู้เสียหายอีกราย โดยใช้ใบมอบอำนาจปลอม แสดงว่าเจ้าของที่ดินต้องการขายเอง ทั้งที่เจ้าของตัวจริงไม่เคยยินยอม หรือแม้แต่รู้ว่าที่ดินของตนถูกนำไปเสนอขาย
เมื่อถึงกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อจึงมาพบว่า ไม่สามารถโอนที่ดินได้จริง เพราะติดภาระจำนอง และไม่มีเอกสารใดที่ได้รับการรับรองจากเจ้าของตัวจริงเลยแม้แต่ฉบับเดียว
ขบวนการนี้ยัง จัดฉากการซื้อขาย ด้วยการไม่ให้เหยื่อเข้าไปยังสำนักงานที่ดิน อ้างว่า “มีคนข้างในจัดการให้” แล้วเดินออกมาพร้อมโฉนดหรือเอกสารปลอมเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
สำหรับพื้นที่ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศีขรภูมิ รัตนบุรี ท่าตูม และอีกหลายอำเภอ ทั่วประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 จุดเริ่มต้นแห่งความจริง กลุ่มเหยื่อรวมตัวร้องตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) หลังตกเป็นเหยื่อและสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้เสียหายจากหลายจังหวัดได้ รวมตัวกันเข้าร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 เพื่อขอความช่วยเหลือในการสืบสวน ติดตาม และจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผู้เสียหายบางรายถึงขั้นหมดตัว สูญเงินเก็บทั้งชีวิต จากความหวังว่าจะได้ครอบครองที่ดินแปลงงาม หรือได้รับผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ตามที่ถูกชักชวน แต่กลับถูกหลอกอย่างแนบเนียนด้วยเอกสารทางราชการปลอมที่จัดฉากมาอย่างมืออาชีพ
ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือบางรายเกิดความเครียดอย่างรุนแรง จนถึงขั้นคิดสั้นหวังปลิดชีวิตตนเอง โชคดีที่ญาติและคนใกล้ชิดช่วยยับยั้งไว้ได้ทัน เป็นภาพสะท้อนความร้ายแรงของพฤติกรรมหลอกลวงที่ไม่ได้ทำร้ายแค่ทรัพย์สิน แต่กระทบถึงสภาพจิตใจและชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
เสียงสะท้อนของเหยื่อกลุ่มนี้ ไม่เพียงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการติดตามจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ แต่ยังเปิดโปงให้เห็นโครงข่ายมิจฉาชีพที่กำลังระบาดในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดการอย่างจริงจัง
การตรวจสอบประวัติของ น.ส.ฤทัย พบว่า เคยถูกดำเนินคดีอาญามาแล้วมากกว่า 20 คดี ส่วนใหญ่เกี่ยวกับฉ้อโกง เอกสารปลอม และการหลอกลวงทรัพย์ซ้ำซาก ขณะนี้เชื่อว่าผู้ต้องหารายนี้อาจเชื่อมโยงกับเครือข่ายมิจฉาชีพที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด
ภายหลังการจับกุม เจ้าหน้าที่ได้นำตัว น.ส.ฤทัยฯ ส่งศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยตลอดกระบวนการได้ดำเนินการภายใต้ พระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายฯ พ.ศ.2565 อย่างเคร่งครัด
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอยืนยันว่า จะเร่งขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการทุกราย และเอาผิด ตามกฎหมายถึงที่สุด เพื่อปกป้องประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม