10 เมษายน 2568 กรณีไฮโซฮอต ซึ่งเป็นไฮโซเก๊ ใช้โปรไฟล์สุดหรูลุกซ์ไฮโซ โพสต์ลงแอปหาคู่ทักจีบ คะน้า ดาราสาว อวดอ้างทำงานในรัฐบาลเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีรถสารวัตรทหารเปิดไซเรนขับนำขบวน ใช้ทองปลอมเพชรเก๊เป็นของหมั้น ทั้งที่ตัวเองก็มีแฟนสาวที่อยู่กินฉันสามีภรรยา จนกลายเป็นกระแสไฮโซเก๊คะน้า รวมทั้งยังหลอกหญิงสาวไปทั่ว มีเหยื่อหลายรายนั้น
ล่าสุดตำรวจนำหมายจับค้างเก่า ข้อหายักยอก และฉ้อโกง ไปรวบตัวคาโรงพยาบาล ไปส่งศาลอาญาตลิ่งชัน ปรากฏว่าไม่มีคนมายื่นประกัน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษธนบุรีแล้ว
จากพฤติการณ์ทั้งหมดของ ไฮโซเก๊ เริ่มจากใช้โปรไฟล์ไฮโซ แต่งตัวเสื้อผ้าแบรนด์เนม ไปท่องเที่ยวสถานที่โก้หรูอลังการ ไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตติดแกรม จนนำไปสู่การทำให้หญิงสาวในแอปหาคู่ ยอมแชทคุยทักทาย จนก้าวไปถึงขั้นนัดเจอหน้าพูดคุย บางรายถึงกับคบหากันเป็นแฟน แต่สุดท้ายตัวจริงกลับไม่ตรงปก
รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา อาจารย์นิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดข้อกฎหมายในเรื่องนี้ว่า พฤติการณ์ หลอกให้รัก นั้น ถ้าหลอกให้รักแล้วไม่มีการได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ หลอกให้รักเฉยๆ ไม่ได้สูบเงินไปด้วย ก็จะไม่มีความผิดอาญาใดๆทั้งสิ้น แต่ฝ่ายที่ถูกหลอกให้รัก ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น มีช่องทางฟ้องร้องได้เหมือนกัน เป็นการฟ้องทาง ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายทางจิตใจ เรื่องนี้ไม่ค่อยรับรู้กันแพร่หลายมากนัก จริงๆกฎหมายข้อนี้บัญญัติอยู่ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเป็นบททั่วไป ในการกระทำละเมิด โดยกฎหมายวางหลักเอาไว้ว่า
ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
รศ.ดร.มานิตย์ อธิบายว่า แต่เดิมศาลฎีกาไทย วางหลักเอาไวัตั้งแต่ปี 2499 ว่า “ไม่ให้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายทางจิตใจแก่ความเสียหายทางจิตใจ” โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับที่ยึดหลักนี้
กระทั่งปี 2556 ศาลฎีกาได้วางหลักเป็นบรรทัดฐานใหม่ว่า “การใช้อาวุธปืนข่มขู่ เป็นการทำให้ผู้เสียหาย เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยแล้ว เพราะเป็นการทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัว
นี่คือบรรทัดฐานที่โยงถึง “ความเสียหายทางจิตใจ” เพราะการหลอกให้รัก แม้ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย แต่ก่อผลกระทบทางอนามัยและจิตใจแน่นอน
เป็นหลักการที่ศาลในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป พิพากษาให้ฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายกันได้อย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่พอสมควร
ส่วนการ “หลอกให้รัก” แบบที่ผิดกฎหมายแน่ๆ คือการหลอกให้รัก แล้วมีการได้ไปซึ่งทรัพย์สินเงินทอง หากมีพฤติกรรมเช่นนี้ จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา
อาจารย์มานิตย์ สรุปว่า เส้นแบ่งระหว่างหลอกให้รักที่ผิดหรือไม่ผิดฐานฉ้อโกง คือ ดูเงื่อนไขที่ว่า การหลอกนั้นทำให้เกิดการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากคนที่ถูกหลอกไปหรือไม่ ถ้ามีเส้นทางของการได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ก็จะเข้าข่ายความผิดอาญาฐานฉ้อโกงทันที
ส่วนการอ้างว่า ฝ่ายที่ถูกหลอก มอบทรัพย์สินให้โดยเสน่หาเอง ไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญนั้น อาจารย์มานิตย์ บอกว่า การให้ทรัพย์สิน ที่สืบเนื่องมาจากการหลอก คือ ตั้งใจจะไปหลอกตั้งแต่แรก เช่น หลอกว่าเป็นคนรวย เป็นบุคคลสำคัญ มีรถนำขบวน ทั้งที่ไม่มีจริง แล้วจะบอกว่าเป็นการ สมัครใจให้โดยเสน่หา ก็ถือว่าพิสูจน์ยาก เพราะมันมีการหลอกลวงปนอยู่ด้วยอย่างชัดเจน จึงเป็นฉ้อโกง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข่าวดังในขณะนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงชัดเจนพอสมควรว่าตั้งใจไปหลอก
ส่วนการให้โดยเสน่หา คือ การรักกันจริงๆ แล้วมีการให้ทรัพย์สินกัน แต่สุดท้ายเลิกรากัน แบบนี้จะไม่ความผิดฐานฉ้อโกง
สำหรับความผิด “ฉ้อโกง” บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ด้าน แหล่งข่าว ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมท่านหนึ่ง เปิดเผยว่า การใช้โปรไฟล์ที่เรียกว่า ไม่ตรงปกไม่ตรงกับตัวจริง ไปจีบหญิงสาว ถ้าไม่มีเจตนาไปทำร้าย ไปหลอกเอาเงินเอาทรัพย์สินใคร ก็ต้องบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะคนส่วนใหญ่ มักจะใช้รูปที่ตัวเองดูหล่อดูสวย แบ็คกราวด์ด้านหลังสวยงามอลังการอยู่แล้ว บางคนก็ใช้แอปทำให้รูปตัวเองดูหน้าตาดีกว่าปกติ โดยเฉพาะในแอปหาคู่
แต่เมื่อมีการนัดเจอนัดคุยกันแล้ว ไม่ว่าหญิงนัดฝ่ายชาย หรือฝ่ายชายนัดฝ่ายหญิง ทั้งนี้ก็ต้องดูอากัปกิริยาท่าทาง รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ว่าจะเป็นดังที่เราคาดหวังไว้ว่าจะเป็นคนที่ใช่หรือไม่
ถ้ามองแล้วไม่ใช่ก็ควรแยกย้ายกันไป หรือถ้าคุยกันจนถึงขั้นคบหากัน ก็ต้องถือว่าคุณตกลงปลงใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายบรรลุนิติภาวะแล้ว
แต่ถ้าใช้โปรไฟล์ไฮโซ ไปฉ้อโกงเงิน ไปหลอกลวง สร้างเรื่องต่างๆนานา ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน