7 มีนาคม 2568 นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสอบสวน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ และ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณี 7 ตำรวจจราจร สังกัดกองกำกับ 1 บก.จร. ทำร้ายร่างกาย นายธนานพ เกิดศรี หนุ่มขับมาสด้าสีแดง ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะเข้าใจผิดว่า เป็นคนร้ายที่ขับรถแหกด่านตรวจ เหตุเกิดเมื่อเดือนกันยายน 2567 บริเวณใกล้ด่านตรวจบริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 21 แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม.
นายวัชรินทร์ บอกว่า วันนี้เป็นการประชุมคดีพิเศษ เป็นไปตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ให้ทางอัยการเข้ามากำกับการสอบสวน หลังจากที่อัยการได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ชี้ให้ ดีเอสไอ สอบสวนคดีนี้ ซึ่งขณะนี้ สอบปากคำผู้เสียหายไว้แล้ว 5 ปาก คือ ผู้เสียหาย พ่อ พี่สาว น้องสาว และแฟน ซึ่งเป็นการสอบสวนเบื้องต้น และวันนี้ที่ประชุม มีมติให้กำหนดการสอบพยานใหม่ว่า จะมีการสอบใครบ้าง รวมถึงบุคคลที่ให้กล้องวงจรปิด คือสำนักงานเขตจตุจักร ที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง และได้ตั้งประเด็นที่จะไปสอบสวนพยานทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งประเด็นการสอบสวนตำรวจ ที่อยู่ในด่านว่า ใครทำอะไรบ้าง ซึ่งจากวงจรปิดที่เห็นชัดเจน โดยจะทำการสอบสวนเพื่อให้เห็นพฤติการณ์กระทำความผิดว่า มีใครเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด นอกจากผู้ต้องหา 7 นาย คือ ร้อยตำรวจเอก 1 ราย สิบตำรวจเอก 5 ราย สิบตำรวจโท 1 ราย ทั้งนี้จะต้องดูว่า มีผู้บังคับบัญชาคนไหนเกี่ยวข้องหรือไม่ด้วย รวมถึงจะต้องดูถึงการแจ้งการจับกุมด้วยว่า ถูกต้องจตามกฎหมายหรือไม่
ตั้งไทม์ไลน์ไว้ว่า จะทำสำนวนให้เสร็จภายในเดือน เม.ย. ส่วนตำรวจ 7 นาย จะยังไม่เรียกมาสอบ เพราะอยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินคดี แต่จะเรียกพยานฝั่งผู้เสียหาย 5 ราย ตำรวจหัวหน้าด่าน บุคคลที่อยู่ในด่าน และขอเอกสารทางการแพทย์ และสอบปากคำแพทย์ และพยานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ส่วนมีการทำร้ายผิดคันหรือไม่นั้น นายวัชรินทร์ เห็นว่า ไม่ว่าจะผิดคันหรือถูกคัน ตำรวจชุดจับกุมทั้ง 7 นายก็ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายใคร และเมื่อดูกล้องวงจรปิด จะเข้า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.อุ้มหาย เพราะมีการถูกทำร้ายอย่างรุนแรง ส่วนสำนวนที่ พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ทำส่งไปยัง ป.ป.ช. ดีเอสไอ จะทำหนังสือไปถึง ป.ป.ช.เพื่อขอสำนวนกลับคืนมา เพราะเป็นอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ
ยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้เงียบหายไป ตำรวจ 7 นาย เท่าที่ทราบคือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ที่เป็นโทษทางวินัย ส่วนการดำเนินคดีอาญายังคงอยู่ และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีอัตราโทษสูงถึง 15 ปี
ขณะที่ นายอังศุเกติ์ บอกว่า การเยียวยาผู้เสียหาย ได้การการเสนอไปแล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังก่อน เพราะกระทรวงยุติธรรมได้มีการพิจารณาไปแล้ว ส่วนตัวเลขจะต้องเยียวยาเท่าไร รอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนเพราะต้องเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ ส่วนการข่มขู่คุกคาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการข่มขู่คุกคามผู้เสียหายเกิดขึ้น