กรณี 7 ตำรวจจราจร สังกัดกองกำกับ 1 บก.จร. ก่อเหตุร่วมกันทำร้ายร่างกายคนขับรถมาสด้าสีแดง นายธนานพ อายุ 33 ปี ลูกชาย พ.ต.ท.ธนชัย อายุ 61 ปี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. เกษียณอายุราชการ ได้รับบาดเจ็บสาหัส บริเวณใกล้ด่านตรวจบริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 21 แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม. เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่า นายธนานพ เป็นคนขับรถมาสด้าสีแดงแหกด่านตรวจ แต่ปรากฏว่าเป็นการจับผิดตัว เมื่อกลางดึก วันที่ 4 ธ.ค.67 โดยในส่วนคดีอาญาได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ ตร.ทั้ง 7 นาย ความผิดฐาน "เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ" ตำรวจทั้ง 7 นาย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานอัยการเพื่อทราบและพิจารณาข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดหรือไม่
26 กุมภาพันธ์ 2568 คืบหน้าในเรื่องนี้ นายโชคชัย สิทธิผล อธิบดีอัยการ สำนักงานสอบสวนได้มีหนังสือตอบกลับไปยังดีเอสไอ แจ้งรายชื่อพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งตั้งคณะทำงานผู้เข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ในคดีดังกล่าวซึ่ง ประกอบด้วย
1.นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน อัยการมือสอบสวนชื่อดัง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ฉายาอัยการเอฟบีไอ
2.นางสาววณี เกษตรธรรม อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน
1.นางสาวทักษอร สุวรรณสายะ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
2.นางสาวบุษยภา เมณฑกา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
3.นายธีรัช ลิมปยารยะ อัยการจังหวัดประจำสำสำสำนักงานอัยการสูงสุด
4.นางสาวศรัณย์ตา พงศ์หมายเกื้อ เจ้าพนักงานคดีชำนาญการพิเศษ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนในทันที เพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฯ เเละระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ โดยเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานคดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฯ ซึ่งถือว่าเป็นการจับกุมควบคุมตัวและมีการทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจาก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 31 บัญญัติไว้เพียงแค่แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเท่านั้น
เพราะเมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบแทนพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็เป็นอำนาจหน้าที่ อสส.สั่งชี้ขาดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวนได้ แต่การสอบสวนดังกล่าวต้องมีอัยการเข้าไปตรวจสอบและกำกับการสอบสวนซึ่งเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบแล้วถือว่าคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
เทียบเคียงกับคดีที่เกิดขึ้นคือคดีลุงเปี๊ยกที่ถูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วมีการซ้อมทรมาน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและมีอัยการเข้ามาตรวจสอบกำกับการสอบสวน