9 มกราคม 2568 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงาน ปปง. (หัวช้าง) กรุงเทพฯ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ "มาดามอ้อย" พร้อมด้วย ทนายสมชาติ พินิจอักษร เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อยื่นคำร้อง และพยานเอกสาร ขอรับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในรายคดี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุที่อันควรเชื่อได้ว่ามีการโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาทนั้น โดยมี น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผอ.กองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. เป็นตัวแทนรับเรื่อง
ทนายสมชาติ พินิจอักษร กล่าวว่า วันนี้ น.ส.จตุพร มายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย จำนวน 71 ล้านบาท ตามที่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปก่อนหน้านี้ ส่วนมีความกังวลเรื่องทรัพย์สินหรือไม่นั้น เพราะมีมูลค่ากว่า 71 ล้านบาท ตนก็ว่าเอาเท่าที่สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบทรัพย์สิน และได้ยึดอายัดไว้ เท่าไรก็เท่านั้น
สำหรับวันนี้เราก็ต้องขอบคุณสำนักงาน ปปง. ในส่วนทางแพ่ง การดำเนินการมาตรการทรัพย์สินต่าง ๆ ส่วนคดีอาญาก็เป็นส่วนของตำรวจ และอัยการที่ควบคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวเลขอื่น อย่างจำนวน 39 ล้านบาท ก็คงจะตามมา ดังนั้น ด้วยทั้งหมดที่อยู่ในคดีมูลฐานความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องก็คงต้องให้ ปปง. ดำเนินการต่อไปในเรื่องทรัพย์สิน
ทนายสมชาติ กล่าวอีกว่า จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับมาดามอ้อย หลัก ๆ คือเงินจำนวน 71 ล้านบาท เงินจำนวน 39 ล้านบาท รถเบนซ์มูลค่า 11 ล้านบาทเศษ และอีก 9 ล้านบาท ส่วนการเข้าให้ปากคำกับพนักงานอัยการที่ผ่านมานั้น ทางสำนักงานอัยการที่ดูแลคดีนอกราชอาณาจักร ก็มีการสอบสวนปากคำเพิ่ทเติมในประเด็นนอกราชอาณาจักร ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่พูดคุยนั้น มันมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีการกระทำความผิดสัมพันธ์กันระหว่างคดีในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการ ซึ่งรวมเรื่องการทำสัญญาและเรื่องเส้นทางการเงินต่าง ๆ เข้าไปด้วย
สำหรับพยานเอกสารที่เรานำมายื่นให้กับ ปปง. เพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย มีทั้งใบโอนเงินของธนาคาร หรือสำเนาแคชเชียร์เช็คในส่วนของ 39 ล้านบาท รวมถึงใบร้องทุกข์กล่าวโทษ และหลักฐานทางการเงิน ส่วนการระบุพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดนั้น มันอยู่ในสำนวนการสอบสวนของตำรวจอยู่แล้ว ตนเชื่อว่าตำรวจคงได้สำเนาให้กับทาง ปปง. เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่าจนถึงตอนนี้เราไม่มีข้อกังวลใจอะไรเลย
เมื่อถามถึง กรณี "ทนายตั้ม" ยังคงอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังคงไม่ได้รับการประกันตัว ทนายสมชาติ ให้ความเห็นว่า ก็ตามข่าว เขายังอยู่ในเรือนจำฯ ส่วนจะอยากให้เจ้าตัวได้เอ่ยอะไรหรือไม่นั้น ตนเชื่อว่ามันอยู่ที่กระบวนการความคิดของเขาว่า เขาจะคิดและพิจารณาอย่างไร ส่วนถ้า "ทนายตั้ม" อยากขอขมา "มาดามอ้อย" อันนี้ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องสามัญสำนึกของแต่ละบุคคล คงไม่ก้าวล่วงเขา ส่วนถ้าหากหลังจากนั้น จะอยากคุยหรือไกล่เกลี่ยต้องไปคุยกับ "นายสนธิ ลิ้มทองกุล" แทนหรือไม่นั้น อันนี้ต้องคุณสนธิ ตอบ ตนตอบแทนไม่ได้
ขณะที่ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ "มาดามอ้อย" กล่าวว่า ตนรู้สึกดีและมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ รู้สึกสบายใจขึ้น ไม่เครียด ไม่ซีเรียสอะไร ส่วนถ้า "ทนายตั้ม" จะอยากมาขอขมา ตนขอย้ำว่า "ไม่ขอไกล่เกลี่ย ไม่คุยอะไรทั้งสิ้น" เพราะตนได้เคยให้โอกาสเขาไปแล้ว ส่วนถ้าหลังจากนี้จะมีคนเข้าหาตนในลักษณะเช่นนั้นอีก การระวังตัวจะมากขึ้นหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตนระวังเยอะมากขึ้นเลย ระวังอย่างถึงที่สุด หากใครมาขอยืมเงิน หรือมาเชิญให้ร่วมลงทุนอะไร ตอนนี้ตนอยู่ที่ครอบครัวเลย ทำธุรกิจแค่กับครอบครัว ทั้งนี้ หลังจากนี้คงเดินทางไปพักผ่อน ไม่ต้องเข้าให้การอะไรกับตำรวจอีกแล้ว เพราะได้ให้การไปหมดแล้ว
ส่วนสาเหตุว่าทำไมยังอยู่ไทยต่ออีก 2 เดือนนั้น "มาดามอ้อย" ระบุว่า จริง ๆ ตนมีแพลนจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ก็เลยอยู่ที่นี่รอดูเหตุการณ์ด้วย และรอดูว่าคดีจะเป็นอย่างไรบ้าง หรือทางตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จะมีเรียกสอบอะไรเพิ่มหรือไม่ เพราะจำได้ว่าอาจจะมีเรียกสอบอีกทีในช่วงเดือน ม.ค.นี้ เลยอยู่ต่อไปก่อน หากมีการเรียกสอบเพิ่มเติมจุดไหนที่ต้องแก้ไข เราก็จะได้ให้ความร่วมมือ และเมื่อถามว่าจะรออยู่ไทย เพื่อดูจนถึงขั้นส่งฟ้องศาลเลยหรือไม่นั้น มาดามอ้อย ระบุว่า ใช่ค่ะ ทั้งนี้ จนถึงวันนี้ทางฝั่ง "ทนายตั้ม" ยังไม่ได้ส่งคนมาพูดคุยอะไรกับตน เงียบผิดปกติ ส่วนเขาจะคิดอะไรไหมนั้น ตนไม่ทราบ ตนแค่จะดำเนินการให้ถึงที่สุด ไปสุดซอย
ด้าน น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผอ.กองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า คดีของคุณอ้อย ตอนนี้อยู่ในกระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ซึ่งทางคุณอ้อย และทนายจะได้ยื่นข้อมูล พยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ ปปง. จากนั้นเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมเรื่องและประมวลเรื่องเสนอคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการต่อไป
ส่วนกระบวนการการได้เงินคืนนั้น ต้องรอกระบวนการทางศาลแพ่งให้เสร็จสิ้น หากไม่มีการโต้แย้ง กระบวนการก็น่าจะเสร็จเร็วขึ้น นอกจากนี้ คำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ "ทนายตั้ม" และพวก ยังคงมีเพียงจำนวน 71 ล้านบาท ส่วนหากหลังจากนี้ ปปง. สามารถยึดและอายัดจำนวนทรัพย์สินอื่นได้อีก หรือหากมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่น ก็จะเข้าสู่กระบวนการเดิม จะมีการประกาศคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ขอให้คุณอ้อยเข้ายื่นคำร้องดังเดิมในคำสั่งนั้น ๆ
ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคดีฉ้อโกงจึงเป็นภารกิจงานของสำนักงาน ปปง. ที่จะต้องยึดและอายัดทรัพย์สิน เพื่อเฉลี่ยชดใช้คืนผู้เสียหายนั้น น.ส.สุปราณี แจงว่า เป็นภารกิจที่รัฐบาล นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรมเวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงาน ปปง. รวมถึงเลขาธิการ ปปง. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเสียหายของประชาชน ว่า ปปง. ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย พยายามที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ ปปง. ที่จะติดตามทรัพย์สินที่ผู้เสียหายถูกหลอกลวงนำกลับมาคืนได้ ซึ่งกระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ถือเป็นกระบวนการที่จะช่วยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายได้มากที่สุด ทั้งพยายามรวบรวมทรัพย์สิน ติดตามเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำกระ ทำผิด และมีการประกาศลงราชกิจจาฯ ซึ่งตามกระบวนการแล้วเมื่อไรก็ตามที่มีการประกาศลงราชกิจจาฯ ผู้เสียหายมีระยะเวลาทั้งสิ้น 90 วัน ในการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายผ่าน 3 ช่องทาง คือ ยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงาน ปปง. / ยื่นส่งผ่านไปรษณีย์มายังสำนักงาน ปปง. / ยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง.
น.ส.สุปราณี กล่าวต่อว่า สำหรับคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของทนายตั้มและพวก ที่ ปปง. ได้มีคำสั่งออกไปก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค.67 มีทั้งสิ้น 3 รายการ เป็นบ้าน และเงินในบัญชีสองรายการ รวมประมาณ 71 ล้านบาท ส่วนรายการทรัพย์สินอื่น ๆ นั้น ปปง. อยู่ระหว่างบูรณาการกับตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรณีบ้านหรูของ "ทนายตั้ม" ได้ถูกคำสั่งยึดและอายัดไปอยู่นั้น เมื่อมีมติยึดแล้ว ตามหลักการผู้อื่นที่เป็นบุคคลภายนอกก็ไม่สามารถเข้าไปใช้ทรัพย์สินดังกล่าวได้ ส่วนถ้าเป็นผู้พักอาศัยเดิม หรือมีสิทธิ์อยู่ในบ้านหลังดังกล่าว อาจจะต้องมีการทำคำร้องมาที่สำนักงาน ปปง. ในการขอใช้ทรัพย์ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทรัพย์ดังกล่าวนั้นตกเป็นของแผ่นดิน หรือศาลมีคำสั่งให้ชดใช้คืนให้กับผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม จวบจนวันนี้ ตนยังไม่ได้รับข้อมูลว่าทนายตั้มและพวก ได้มีการชี้แจงเรื่องการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด