จากเหตุการณ์การพังถล่มของโครงถักเหล็ก หรือ "ทรัส" (Steel launching Truss) บริเวณจุดก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 พังถล่ม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น ช่วงเช้าวันที่ 29 พ.ย.2567
3 ธันวาคม 2567 ล่าสุด นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เดินทางมาตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการเตรียมความพร้อมในการยกทรัส หรือ โครงเหล็กที่ติดค้างอยู่ด้านบนลงมาสู่พื้นถนน
โดยขณะนี้มีการวางเครนยึดทั้ง 6 ตัวตามจุดต่างๆ และติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่สำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอการประเมินจากทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะทำการยกตรงส่วนไหนและยกลงมาอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ยังพบว่า ตรงบริเวณหน้างานยังมีการทำพิธีไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ตามความเชื่ออีกด้วย
ด้าน นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนในวันนี้คือการแก้ไขปัญหาถนนพระราม 2 ตามคำสั่งของท่านรัฐมนตรี สำหรับในภาพรวมของการแก้ไขปํญหาปัจจุบันคือ การจัดทางเบี่ยงให้แก่รถที่ลงสู่ภาคใต้ ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาการจราจรที่ติดขัดลงได้
นอกจากนี้วันนี้ยังได้มีการเข้าหน้างานเพื่อวิเคราะห์นำทรัส (โครงเหล็ก) ลงมาซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ วสท. สภาวิศวกร และบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน)
โดยร่วมกันประเมินสภาพโครงสร้าง วิเคราะห์ความเสี่ยง และกำหนดวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ล่าสุดได้นำเครื่องจักรหนัก อาทิ เครนขนาดใหญ่ 550 ตัน 2 จุด, เครนขนาด 400 ตัน 1 จุด และเครนขนาด 360 ตัน 2 จุด รถยก รถบรรทุก และเครื่องมือต่างๆ เข้ามาเตรียมการอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อุปกรณ์ป้องกัน และมาตรการควบคุม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมทางหลวงตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เราจึงเร่งดำเนินการทุกวิถีทาง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นสำคัญ
สำหรับแผนการทำงานเบื้องต้นนั้น เราจะนำโครงสร้างทรัส (โครงสร้างเหล็ก) ที่หักลงมาพร้อมกับแท่งปูน 3 แท่ง ที่ยังคงห้อยอยู่ลงมาก่อน แต่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ ต้องรอให้ทางทีมผู้เชี่ยวชาญสรุปออกมาเป็นที่ชัดเจน ซึ่งจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ส่วนการเคลื่อนตัวของโครงเหล็กหรือคานเหล็กที่หักพังนั้น
จากการตรวจวัดด้วยเซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ยังไม่พบการเคลื่อนตัว แต่ถ้ามีการยกทรัสและแท่งปูนเมื่อไหร่ หากพบการเคลื่อนตัวเกิดขึ้น เซ็นเซอร์ก็จะคอยจับและส่งสัญญาณเตือน ขณะที่การยกโครงเหล็กลงนั้น ก็จะทำทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งขาเข้า และขาออก แต่ตอนนี้จะดำเนินการในฝั่งขาออกก่อน เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรให้ได้ดังเดิม และรวดเร็วที่สุด