22 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางมายื่นคำร้องขอฝากขัง "บอสพอล" นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล อายุ 41 ปี กับพวกรวม 18 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนดิไอคอน ครั้งที่ 4 โดยคำร้องฝากขังครั้งนี้ได้มีการเเนบคำร้องเเจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาเพิ่มเติมมาด้วย
โดยสรุปพฤติการณ์ว่า
1. ตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 ลงวันที่ 8 พ.ย.2567 ของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหานี้ไว้ในระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.-22 พ.ย.2567 นั้น
ข้อ 2 คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือเรื่อง "ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในการกระทำความผิดอาญาอันเป็นคดีพิเศษ" มาพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจำนวน 92,289 แผ่น กรณีดำเนินคดี กับบริษัท ดีไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มาให้พิจารณาว่าเข้าเข้าเงื่อนไขการรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้เสนอเรื่องเข้าการประชุมคณะกรรมการกลั่นกลองการรับคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรรคหนึ่ง (1) แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ และได้มีมติในที่ประชุม ลงวันที่ 29 ต.ค.2567 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่ากรณีดังกล่าว
ฯลฯ
เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
เป็นการร่วมกันกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มขบขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ คดีมีความยุ่งยาก สลับซับช้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทั่วราชอาณาจักร โดยมีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอันมีลักษณะเป็นความผิดตาม พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ
ประกอบกับความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามประกาศบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8)เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีดิพิเศษมาตรา 21วรรคหนึ่ง (1) พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษฯข้อ 1,15 จึงเห็นควรเสนอ อธิบดีกรมสอบคดีพิเศษ มีคำสั่งให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษและมอบกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ จึงได้รับไว้เป็น คดีพิเศษที่ 119/2567 และได้มีคำสั่งแต่งตั้งตั้งคณะพนักงานสอบสวนที่ ลงวันที่ 30 ต.ค.เพื่อดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทุกรายให้ทราบว่า
"ร่วมกันกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน"
"ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น"
และ "ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต"
โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
บัดนี้จะครบกำหนดเวลาฝากขังครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 พ.ย.2567 สำหรับผู้ต้องหาที่ 19(เดิม) ซึ่งเรียงลำดับใหม่เป็นผู้ต้องหาที่ 2 หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องทำการสอบปากคำพยาน จำนวน 4,500ปาก, พยานฝ่ายผู้ต้องหา จำนวน 400ปาก ต้องรอผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารต่าง ๆ , รอผลการตรวจสอบจากศูนย์ชื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ , รอการตรวจสอบเอกสารที่ได้ทำการยึดไว้,ตรวจสอบเอกสารและวัตถุของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการสอบสวนกลาง และรอผลการตรวจวัตถุพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกลาง
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวจึงขออนุญาตศาลให้ฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างการสอบสวนต่ออีก 12วัน นับแต่วันที่ 23 พ.ย.-4 ธ.ค.2567
ท้ายคำร้องระบุว่าหากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีผู้เสียหายจำนวนเบื้องต้นประมาณ 9,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายถึงจำนวน 2,956,274,931 บาท (กว่า 2.9 พันล้านบาท) ซึ่งผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
โดยศาลอาญาพิจารณาเเล้วอนุญาตฝากขัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีที่พนักงานสอบสวนมีการเเจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษถึง 10 ปี เเละศาลอนุญาตฝากขังในข้อหาดังกล่าวเเล้วจะทำให้ สามารถยื่นฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 ครั้ง (84วัน) จากเดิมที่สามารถยื่นฝากขังได้ 4 ครั้ง (48) วัน