จากกรณีที่เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน (ส.ต.ป.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 4 ให้มีการตรวจสอบการก่อสร้างถนน ในการดำเนินงานของ อบจ.ขอนแก่น หลังพบว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต โดยมี นายธรรมโรจน์ เงาฉาย ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 4 รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
30 ตุลาคม 2567 นายพงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น และรักษาการนายก อบจ.ขอนแก่น ได้เผยถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยปกติแล้ว อบจ.ขอนแก่น จะมีหน่วยกำกับดูแลคือ จังหวัดขอนแก่น นอกจากนั้นก็มีหน่วยตรวจสอบหลัก คือ สำนักวานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. รวมทั้งคณะธรรมาภิบาลจังหวัด
นายพงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น และรักษาการนายก อบจ.ขอนแก่น
โดยเฉพาะในส่วนของ สตง.ถือว่ามีการเข้มงวดตรวจสอบเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และมีการตรวจสอบหลายครั้งต่อปี ที่สำคัญการดำเนินโครงการของ อบจ.ขอนแก่นแต่ละโครงการมีที่มาที่ไปทุกโครงการ เพราะมีกฏหมาย ระเบีบยและขั้นตอนในการปฏิบัติทุกโครงการในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีปรากฏในแผน และปรากฏในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี จากนั้นจะมีแผนดำเนินการ แผนจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดห้วงเวลาทำงานที่ชัดเจน มีระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน
เป็นไปไม่ได้ที่จะมีถนนทิพย์ตามที่กล่าวอ้าง ไม่มีโครงการจริงเกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่มีใครกล้าทำแบบนั้นแน่นอน การที่มีสื่อไปลงข่าวในลักษณะนี้ว่าถนนทิพย์ ไม่มีการก่อสร้างจริง การเสนอข่าวที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และสรุปไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กร อบจ.ขอนแก่น
ถ้าหากไม่เป็นข้อเท็จจริงอาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ อยากจะให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อนเพราะทางเราเอง ตอนนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานจาก ป.ป.ท.เขต 4 แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเรายังไม่ทราบรายละเอียด
ส่วนเรื่องของโครงการที่กล่าวอ้างว่าไปทับซ้อนพื้นที่ของ อบต.โพนเพ็กนั้น ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงว่าโครงการแต่ละโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของ อปท.ทุกโครงการจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากการร้องขอของ อปท.ในพื้นที่ก่อน ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาล จะต้องร้องขอมาที่ อบจ. ซึ่งหาก พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็น และเกินศักยภาพของ อปท.นั้นๆ ถึงจะมีการบรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนก่อน
จากนั้น อบจ.จะมาพิจารณาเรื่องงบประมาณว่า โครงการดังกล่าว มีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหน จะบรรจุำว้ในงบประมาณประจำปีหรือ เป็นโครงการที่มีการเดือดร้อนมาก อาจจะจ่ายขาดเงินสะสม ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโครงการซ้ำซ้อนกัน เพราะหน่วยงานในพื้นที่ อปท.หรือเทศบาลจะเป็นหน่วยที่ร้องขอขึ้นมาก่อน ทำให้ อปท.เองก็จะทราบว่าถนนเส้นไหน อบต.จะดำเนินการเอง หรือถนนเส้นไหนจะร้องขอหน่วยงาน อบจ. เพราะเกินศักยภาพของเทศบาลหรือ อบต.
กรณีเรื่องของการซ่อมแซมถนนที่อ้างว่ามีการซ่อมแซมทับซ้อนกันกับ อบต.โพนเพ็ก และยังไม่มีการติดป้ายโครงการนั้น ปลัด อบจ.ชี้แจงว่า ในการก่อสร้างโครงการที่เป็นลักษณะซ่อมแซม จะไม่มีป้ายถาวร เนื่องจากระเบียยจะให้มีการติดป้ายเฉพาะโครงการก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นโครงการซ่อมแซมจะไม่มีป้ายเนื่องจากการซ่อมแซมถนนนั้นมีหลายจุดในจังหวัด และยืนยันว่า ไม่มีการซ่อมแซมถนนทับซ้อนกับโครงการของ อบต.โพนเพ็กแน่นอนและเป็นไปไม่ได้ที่จะมีถนนทิพย์ตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนประเด็นที่บอกว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้หินลูกรังหลายล้านคิว ซึ่งไม่พบว่ามีบ่อลูกรังที่มีปริมาณมากขนาดนี้ในพื้นที่และข้างเคียง นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ เพราะการทำถนนทั้ง 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น จะบอกว่าบ่อดินมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็อาจจะมีบ่อดินจากจังหวัดอื่นร่วมด้วย ก็ต้องตรวจสอบก่อน
ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถตรวจสอบได้แน่นอน ขอสื่ออย่าด่วนสรุปข่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอย่าง อบจ.ขอนแก่น เพราะหน่วยงานที่กล่าวอ้างดังกล่าวยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน แต่มีการนำเสนอแบบคาดว่า หรืออาจจะส่อทุจริต ทำให้ อบจ.เกิดความเสียหาย