svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ปล่อยตัว "ราเกซ สักเสนา" พ่อมดการเงิน คดียักยอกแบงก์บีบีซี

ปล่อยตัว "ราเกซ สักเสนา" พ่อมดการเงิน คดียักยอกแบงก์บีบีซี พ้นเรือนจำ หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก่อนส่งพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ รอผลักดันออกนอกประเทศ

วันที่ 10 กันยายน 2567 รายงานงานข่าวแจ้งว่า นายราเกซ สักเสนา (Rakesh Saxena) อายุ 72 ปี สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องขังในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 โดยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา  โดยมีตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ไปรับตัวออกจากเรือนจำ ก่อนส่งไปยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายราเกช ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างรอการผลักดันออกนอกประเทศ

 

ย้อนไทม์ไลน์ "ราเกซ สักเสนา" เจ้าของฉายา "พ่อมดการเงิน"  หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 โดยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 10 ก.ย.67) ปัจจุบัน "ราเกซ" อายุ 72 ปี 

  • นายราเกซ สักเสนา เป็นนักการเงินการธนาคาร ชาวอินเดีย อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี  ถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์  ในปี 2539 หลังการล้มละลายของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ในปี 2538 โดยนายราเกซ ถูกออกหมายจับ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2539
  • โดยจำเลยกระทำการทุจริตในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเกินบัญชี (โอดี) กับบริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง เกินกว่า 30 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อน อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีหลักประกัน ไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย 
  • นอกจากนี้ จำเลย และพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหาย (บีบีซี) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติ ไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต แม้ภายหลังจำเลยกับพวกได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน แต่คงเหลือเงินที่ยังไม่ได้คืนผู้เสียหาย 353,363,966 บาท
     
  • นายราเกซ หลบหนีออกจากประเทศไทย ไปอาศัยอยู่ที่เมืองวิสต์เลอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และถูกจับกุมได้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2539 ต่อมาทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดา เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่นายราเกซ ได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทย อาจถูกสังหาร หรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้ายทารุณ 
  • ศาลใช้เวลาในการพิจารณาเกือบ 13 ปี  กระทั่งศาลฎีกาแคนาดา มีคำพิพากษายกคำร้องคัดค้านของนายราเกซ เมื่อเดือน พ.ย.2551 และส่งตัวนายราเกซ มาดำเนินคดีที่ไทย เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2552
  • คดีนี้ มีการต่อสู้กัน 3 ศาล จนในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท โดยมีสำนวนแรก 60 กระทง สำนวนที่สอง 6 กระทง และสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท
  • ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2565 รวมระยะเวลาที่รับโทษในประเทศไทย 15 ปี
  • ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามยึดทรัพย์คืนจากนายราเกซ ได้เป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายที่ระบุในคำฟ้องเป็นเงินบาท 40,288 ล้านบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐ 85.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ