svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ทนายพัช" ร้องอัยการตรวจสอบเอาผิดทีมตำรวจคดีแอมไซยาไนด์ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย

26 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทนายพัช" "ทนายแอมไซยาไนด์" ร้องอัยการร่วมสอบเอาผิด ทีมตำรวจสืบสวนคดีของลูกความ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย เหตุชุดจับกุมไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายอุ้มหาย โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ "บิ๊กโจ๊ก" ด้วย

26 เมษายน 2567 ความคืบหน้าคดี "แอม ไซยาไนด์" คดีดังในปี 2566 ที่ น.ส.สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ "แอม" ตกเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นหลายราย ด้วย "สารไซยาไนด์" และอีกหลายฐานความผิด โดยในส่วนคดีวางยาฆ่า "เท้าแชร์ก้อย"

โดยคดีนี้ ศาลนัดตรวจหลักฐานไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 และนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ ตั้งแต่ 4 ก.ค.67 ถึง 12 ก.ย. 67 นัดสืบพยานฝ่ายจำเลย 13 ก.ย. 67 ถึง 19 ก.ย. 67 โดยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ศาลจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง นอกจากคดีนี้ยังมีอีก 14 สำนวน ที่พนักงานสอบสวน จะต้องนำมาส่งพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง
น.ส.สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ "แอม"

ล่าสุดวันนี้ (26 เม.ย.) นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์  หรือ "ทนายพัช" ทนายความ ของ แอม ได้เข้าพบ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย

โดยระบุว่า เนื่องจากถึงเวลาอันเหมาะสม และมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอ พร้อมส่งมอบหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้ว ทีมทนายความแอม รวบรวมมาเพื่อทำการส่งมอบให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป
\"ทนายพัช\" ร้องอัยการตรวจสอบเอาผิดทีมตำรวจคดีแอมไซยาไนด์ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย
 

ทนายพัช กล่าวว่า การร้องเรียนครั้งนี้ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับ แอม และเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีการใช้บังคับกฎหมายมาสักระยะ แต่การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังไม่ถูกต้อง เหตุที่เพิ่งมาร้องเรียนเนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมคดีของ แอม ซึ่งปัจจุบันเตรียมคดีสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่จะพิสูจน์ต่อศาล ซึ่งข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย  กล่าวคือ 

ประการแรก ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุกับแอมนั้น กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว 

ประการที่สอง การกระทำขณะจับกุม ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็เพื่อมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ถูกจับกุม ไปส่งพนักงานสอบสวนให้เร็วที่สุด แต่การที่ชุดจับกุมดังกล่าว พาผู้ถูกจับกุมไปยังสโมสรตำรวจเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและเกิดความอับอาย (แห่นางแมว) 

ประการที่สาม การควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นพนักงานสอบสวน จะต้องมีการบันทึกวีดีโอไว้ ทั้งหมดแต่ชุดจับกุมและพนักงานสอบสวน ชุดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย 
นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์  หรือ "ทนายพัช"
 

ประการที่สี่ การพูดจาข่มขู่ผู้ต้องหา ในขณะที่ตั้งครรภ์ และข่มขู่ไปถึงบุตรของแอม  บุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งในขณะนั้นแอมยังมีการตั้งครรภ์บุตรคนที่สามอยู่ด้วย ยังไม่แท้งอันเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำทางจิตใจ และการกล่อมให้รับสารภาพ ยังถือเป็นจุดประสงค์หลัก เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ โดยไม่คำนึงว่า ต้องรับสารภาพเท่านั้น

ประการที่ห้า การปฏิบัติหน้าที่ขณะที่ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ จะต้องได้รับการตีความตามกฎหมายเช่นกันว่า หากมีลักษณะข่มขู่ทั้งตนเองหรือบุคคลอื่น จนทำให้เกิด ความกลัวหรือกัลวลควรจะต้อง ตีความว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน 

ประการที่หก ดังที่ ทนายพัช เคยกล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 66 ว่า จะเป็นการบูรณาการกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเพื่อให้เป็นรูปธรรม ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนไทย จะเห็นคดีตัวอย่างในมุมที่ดี นำไปปรับใช้กับการอยู่ร่วมกันในสังคม และการปฏิบัติตนของผู้มีอำนาจเช่นเจ้าพนักงานตำรวจนี้

ทนายพัช กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามกฎหมาย ย่อมต้องไม่กลัวที่จะต้องกระทำทุกอย่างอันโปร่งใส ถูกต้องและให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่ลงชื่อปฏิบัติงานในบันทึกจับกุม จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการทำงานของตำรวจ ซึ่งในหลายคดีจะเห็นว่า จะมีลงชื่อปฏิบัติงานจำนวนมาก แต่ตัวไม่อยู่ (มีชื่อแต่ไม่มีตัว มีชื่อแต่อ่านไม่ออกตรวจสอบไม่ได้) ซึ่งในกรณีดังกล่าวหาก มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหาย ผู้ที่มีรายชื่อจะต้อง ร่วมรับผิดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของตำรวจนั้น ตรงไปตรงมาไม่ใช่ลงชื่อเอาหน้า 

ประการที่เจ็ด ผู้บังคับบัญชาที่รู้เรื่องดังกล่าวจะต้องรับผิดตามมาตรา 42 ต้องได้รับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่เจ้าพนักงานชุดจับกุม ทำอย่างไรให้ถูกต้อง และเมื่อเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ย่อมต้องปฎิบัติตามที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกันว่า ให้มีผลบังคับใช้ โดยร้องทุกข์บุคคลที่มีชื่อหลายรายและรวมถึงผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. ที่ต้องรับผิดตามมาตรา 42 ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา 

ทนายพัช กล่าว่า ท้ายนี้ "แอม" ได้แสดงเจตจำนงสุจริต ที่จะใช้สิทธิตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง และยืนยันว่าได้ถูกกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง และทำร้ายจิตใจและเกิดการแท้งบุตรจริง โดยกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติ แม้ยามเกิดสงครามจะหยิบยกขึ้นมาอ้างไม่ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่า เป็นกฎหมายใหม่ ที่ผดุงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
\"ทนายพัช\" ร้องอัยการตรวจสอบเอาผิดทีมตำรวจคดีแอมไซยาไนด์ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย
 

logoline