ย้อนไปเมื่อปี 2553 ประเด็นที่สังคมจับตา ไม่มีเรื่องใดร้อนแรงไปกว่า "คดีแพรวา" กับ 9 ชีวิตที่สูญเสีย บนทางด่วนอุตราภิมุข หรือ "ทางด่วนโทลเวย์" ในค่ำคืนสุดสลด
ย้อนนาทีเกิดเหตุ 9 ชีวิต คดีแพรวา เดินทางไม่ถึงบ้าน
สามทุ่มของวันที่ 27 ธ.ค.2553 นางสาวแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ชื่อและนามสกุลในขณะนั้น) มีอายุเพียง 16 ปี ขับรถยนต์ฮอนด้า สีขาว เฉี่ยวชนรถตู้โดยสาร สาย ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
ภายในรถตู้ มีผู้โดยสาร 14 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของ ม.ธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งหมดเพิ่งเลิกเรียน เลิกงาน และกำลังเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวก่อนวันหยุดยาวปีใหม่จะมาถึง แต่พวกเขากลับไม่ถึงบ้าน เมื่อรถเก๋งของ "แพรวา" ขับตามรถตู้มาด้วยความเร็วสูง ในขณะรถตู้มีความเร็วประมาณ 80 กม./ชม.
กล้องวงจรปิดจับภาพเหตุการณ์ไว้อย่างชัดเจน รถของแพรวา เปลี่ยนเลนกะทันหัน ทำให้ด้านหน้าของรถหลบไม่พ้น ชนเข้ากับท้ายรถตู้อย่างจัง จนเสียหลักพลิกคว่ำไปชนขอบกั้นทางยกระดับและฟาดเข้ากับเสาไฟฟ้า ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถและตกจากทางด่วน สูง 20 เมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 8 ศพ บาดเจ็บ 6 คน และมีอีก 1 คนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมเป็น 9 ศพ
เมื่อตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่า "แพรวา" บาดเจ็บเล็กน้อย โดยภาพปรากฎตามสื่อฯต่างๆ แพรวา กำลังยืนพิงขอบทางแชตบีบี (โทรศัพท์ยี่ห้อ แบล็กเบอร์รี) กลายเป็นกระแสร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า "ทำไมยังมีแก่ใจมายืนแชตบีบี"
ในขณะที่ รถตู้อยู่ในสภาพพังยับเยิน ศพกระจายเกลื่อนถนนตั้งแต่บริเวณหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จนถึงทางเข้าประตู ม.เกษตรศาสตร์ ภาพสุดสลดที่สุดมีอยู่ศพหนึ่งเกี่ยวห้อยอยู่กับสะพานลอยใต้ทางยกระดับ
แม้ในเวลาต่อมา มีกระแสอย่าเพิ่งตัดสินใครจากภาพเพียงภาพเดียว ควรให้โอกาสกับ "แพรวา" เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ในวันเกิดอุบัติเหตุ แพรวา มีอายุเพียง 16 ปี 6 เดือน ยังไม่สามารถทำใบอนุญาตขับขี่ได้ ทำให้คนทั่วประเทศจับตามองความรับผิดชอบจากเจ้าตัวและครอบครัว จนแฮชแท็ก #แพรวา9ศพ ติดเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ประเทศไทยในขณะนั้น
ทำความรู้จัก "แพรวา"
นางสาวแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดวันที่ 30 มิถุนายน 2537 เป็นบุตรสาวของ พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่ง พ.อ.รัฐชัย เคยคบหากับ นางภิญญา ธนกรคุณานนท์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายต่อยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ นายณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ดารานักแสดงชื่อดัง ก่อนที่จะหย่าขาด แล้วสมรสกับ นางลัดดาวัลย์ อรุณวงศ์ แม่ของแพรวา
นอกจาก แพรวา เป็นน้องสาวต่างมารดาของนักแสดงหนุ่ม ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แล้ว เป็นหลานสาวนักการเมืองคนหนึ่งในพรรคไทยรักไทย รวมทั้งเป็นหลานสาวเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร
ต่อมาพบว่า แพรวา ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "อรชร" และ "บัวบูชา" กระทั่งเปลี่ยนชื่อและนามสกุล เป็น "รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ ซึ่งเป็นนามสกุลของแม่ กระทั่งแต่งงานกับนายสรวีย์ รัฐพิทักษ์ถิรดา อดีตกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหย่าขาดจากกันหลังผ่านไป 1 ปี
นอกจากนี้ "แพรวา" เคยสมัครรับราชการทหารในชื่อใหม่ จนมี วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “แพรวา เคยสมัครเป็นทหาร กระทรวงกลาโหม ปัดข่าว แพรวา เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล มารับราชการทหาร เผย "รวินภิรมย์ อรุณวงศ์" เคยมาสมัครสอบเมื่อปี 2560 แต่สอบไม่ผ่าน เลยอดเป็นทหาร
ในเวลาต่อมา กระทรวงกลาโหม ระบุว่า แพรวา เปลี่ยนชื่อเป็น รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ ได้มาสมัครสอบเพื่อเป็นนายทหาร ของสำนักนโยบายและแผนกลาโหมเมื่อปี 2560 แต่สอบไม่ผ่าน จึงไม่ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหาร
ย้อนเส้นทาง "คดีแพรวา" สู้กันตั้งแต่ชั้นสอบสวน
เส้นทางการต่อสู้คดีนี้ไม่ธรรมดา เมื่อหลังเกิดเหตุมีความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความผิดของคนขับรถตู้ โดยทนายความมีชื่อเสียคนหนึ่ง ออกมาระบุว่า "ผิดทั้งสองฝ่าย และคนขับรถตู้ผิดชัดเจน ให้ผู้เสียหายฟ้องร้องเอาทรัพย์สินของคนขับรถตู้มาชดใช้เป็นค่าเสียหาย" คนทั้งประเทศถึงกับอึ้ง
ในเวลาต่อมาก สภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ แพรวา แสดงความรับผิดชอบ พร้อมเรียกร้องให้ตำรวจมีความกล้าหาญทำคดีอย่างเป็นกลาง ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ
"แพรวา" และครอบครัวเก็บตัวเงียบ จนญาติผู้เสียชีวิตต้องออกมาเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ ในที่สุด"แพรวา" เดินทางมาโรงพยาบาลกับแม่ ก่อนจะนั่งรถเข็นไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ 5 คนที่โรงพยาบาล มอบขนมเปี๊ยะคนละกล่องและถ่ายภาพแล้วก็กลับไป จากนั้นไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย
คุณแม่ของแพรวา อธิบายแทนลูกสาวว่า ที่ขับรถเร็วเพราะจะรีบเอารถไปคืนเพื่อน รถไม่ได้เป็นของครอบครัว ไม่เคยอนุญาตให้ลูกขับรถออกไปข้างนอก ส่วนที่แชตบีบีหลังเกิดเหตุ เพื่อบอกเพื่อนว่ารถชนและถามเรื่องประกันรถ
แต่สุดท้าย "โป๊ะแตก" มีคนพบว่า แพรวาเคยโพสต์รูปรถยนต์ Honda สีขาว (คนละคันกับที่เกิดอุบัติเหตุ) พร้อมแคปชั่นว่า “New City น้องสาวคนใหม่ค่ะ สีขาว ทรง mugen รักมาก ไปรับมาเมื่อวานค่ะ เห่อมาก” โดยโพสต์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 53 ก่อนเกิดอุบัติเหตุประมาณ 5 เดือน แสดงว่าที่คุณแม่พูดว่า “เราไม่เคยอนุญาตให้ลูกขับรถออกไปข้างนอก” นั้นไม่เป็นความจริง
กระทั่ง วันที่ 5 ม.ค.54 แพรวา เดินทางมาพร้อมคุณแม่ และทนายความ ไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อดำเนินการสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหา ถูกดำเนินคดี 2 ข้อหา คือ ขับรถประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเสียหายมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต และขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่
นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็นภาพ "แพรวา" บนพื้นที่สื่อ!!
สู้คดีจนครบ 3 ศาล จ่ายชดเชยเหยื่อ 42.5 ล้านบ.
การสู้คดีในชั้นศาล ครอบครัวเหยื่อผู้สูญเสีย ได้ทีมทนายความของ สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยเหลือทั้งในคดีอาญา และคดีแพ่ง
ศูนย์นิติศาสตร์ ได้จัดทนายความดำเนินการยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวม 13 คดี และเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญา
ในส่วนของ คดีอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาวแพรวา เป็นจำเลย ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง วันที่ 22 มิ.ย.54 ในคดีหมายเลขดำที่ 1233/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 1012/2555 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย (ประมาท) ลหุโทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นเวลา 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจรารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ประกอบกับความประพฤติทั่วไปของจำเลยยังไม่มีข้อเสียหาย เป็นการกระทำผิดครั้งแรก รู้สำนึกในการกระทำความผิด และได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายบางส่วนแล้ว
จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นคนดีสักครั้ง ให้รอลงโทษเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวทุก ๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 2 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนข้อหาอื่นศาลพิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม แพรวา ได้ยื่นขออุทธรณ์ ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้ ให้รอลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุปีละ 48 ชั่วโมง ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ขณะที่ คดีแพ่ง นั้น ทนายความประจำศูนย์นิติศาสตร์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความของผู้เสียหายทั้ง 28 คน (ญาติเหยื่อ) เป็นโจทก์ฟ้อง จำเลย 7 ราย ต่อศาลแพ่ง เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย และประกันภัย จำนวน 113,077,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 7 ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามสัญญากรมกรมธรรม์จนครบจำนวนแล้ว โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-7 ประกอบด้วย
คำพิพาษาในคดีแพ่งนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ถึง 3 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันประกอบด้วยค่าขาดไร้อุปการะ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ทั้ง 28 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,061,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ทั้งนี้ เงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีจำนวนตั้งแต่ 4,000–1,800,000 บาท
โจทก์ทั้ง 28 โดยโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย และจำเลยที่ 1-3 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดให้แก่โจทก์ทั้ง 28 และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด ทั้งนี้ เงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ผู้เสียหายส่วนใหญ่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้ปรับลดลงคิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์แต่ละราย
กระทั่งคดีได้ถึงที่สุด เมื่อศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297-308/2562 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 โดยพิพากษาในคดีระหว่างโจทก์ที่ 6 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จเด็ดขาดตามยอมสัญญาประนีประนอมยอม ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2561 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี ซึ่งรวมค่าสินไหมทดแทนที่ศาลฎีกากำหนดให้ทุกคดีแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ส.ค.62 นายกรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรและนักแสดงชื่อดัง พร้อมด้วย นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ได้รับมอบอำนาจจากครอบครัวของแพรวา นำเช็คเงินสดจำนวน 41,755, 050.79 บาท มาวางศาล ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิต 9 คน และได้รับบาดเจ็บ 5 คน โดยยังขาดเงินที่ต้องชดใช้ให้เหยื่ออีกประมาณ 8 แสนบาท เนื่องจากมีการทำยอดผิดพลาด ซึ่งได้นำเงินมาวางศาลที่ศาลแพ่ง รัชดา ในเวลาต่อมา รวมชดเชยเหยื่อเป็นจำนวน 42.5 ล้านบาท
"คดีแพรวา" สร้างความสูญเสียทุกฝ่าย แม้ว่าเม็ดเงินในการชดเชยเหยื่อรวมแล้วจะสูงถึง 42.5 ล้านบาท แต่เมื่อมองในแง่ของความรู้สึกแล้ว คงไม่คุ้ม หรือเพียงพอต่อความสูญเสียทางจิตใจของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างแน่นอน ...ขอให้เรื่องเช่นนี้อย่างได้เกิดขึ้นอีกเลย!!
คำพิพากษาศาลฏีกา คดีแพรวา ฉบับเต็ม คลิกที่นี่