svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

อ.อ๊อด เชื่อ "แอม" มีความรู้เคมี หลังตรวจเจอสารแก้พิษ "ไซยาไนด์"

อ.อ๊อด นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ ม.เกษตรศาสตร์ เร่งตรวจวัตถุพยานกว่า 400 ตัวอย่าง คดี "แอม ไซยาไนด์" เชื่อ "แอม" มีความรู้ทางเคมี หลังตรวจเจอสาร "โซเดียม ไทโอซัลเฟต" ในกล่องพัสดุ ส่งมาถึงแอม ใช้แก้พิษ "ไซยาไนด์"

28 เมษายน 2566 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อาจารย์อ๊อด" อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบวัตถุพยาน ที่ได้รับการประสานจากพิสูจน์หลักฐานให้ตรวจสอบในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ว่า ยังมีวัตถุพยานกว่า 400 ตัวอย่าง ได้มาจากหลายพื้นที่ ทั้ง จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี ราชบุรี

เบื้องต้นตอนนี้ตรวจไปแล้วกว่า 50 ตัวอย่าง และคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์ จะตรวจตัวอย่างเสร็จทั้งหมด โดยจะตรวจตามวัตถุพยานที่สำคัญที่สุด เช่น วัตถุพยานจากผู้ต้องหา ผลตรวจจากผู้เสียชีวิต และตรวจหาจากสิ่งแวดล้อมของผู้ต้องหา

อ.อ๊อด เชื่อ \"แอม\" มีความรู้เคมี หลังตรวจเจอสารแก้พิษ \"ไซยาไนด์\"

สำหรับวิธีการตรวจสอบสารไซยาไนด์ เราใช้เทคนิคตรวจทั้งหมด 4 วิธี คือ

  • 1. Headspace GC-MS ทำให้สารระเหยการเป็นไอ วิเคราะห์ลายนิ้วมือของสาร ซึ่งจะมีสามารถยืนยันได้ 100% ว่าเป็นสารอะไร
  • 2. GC FID เป็นการช่วยกรีนการจับความร้อนจากไอ ใช้ความร้อนแตกเป็นไอออนและวัดค่าไอออนว่าตรงกับสารไซยาไนด์หรือไม่
  • 3. ion chromatography  ใช้หลักการแตกตัวของสารละลายน้ำให้แตกตัวเป็นไอออน
  • 4.สกรีนโดย laser raman เป็นการใช้รังสีเลเซอร์ทำให้ โมเลกุลของสารเกิดความเคลื่อนไหว เป็นความถี่เฉพาะของสารโทเลกุลอื่น ๆ 

  อ.อ๊อด เชื่อ \"แอม\" มีความรู้เคมี หลังตรวจเจอสารแก้พิษ \"ไซยาไนด์\"

รศ.ดร.วีรชัย บอกว่า นอกจากพยานหลักฐานจากนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องตรวจสอบหาหลักฐานทางเคมีเพิ่มเติมจากวัตถุพยานต่าง ๆ  เช่น กระเป๋า รถยนต์ โซฟา บ้านทั้ง 4 จุดที่ไปพักอาศัย ถ้ามีการสัมผัสกับขวดไซยาไนด์จริง ไม่ว่าจะเตรียมหรือผสม สารจะหลุดรอดอยู่ในบริเวณรอบ ๆ

โดย "สารไซยาไนด์" ที่ใช้ก่อเหตุเป็นชนิดโพแทสเซียมไซยาไนด์ ลักษณะคล้ายเกลือ หากผู้ต้องหาได้สัมผัสหรือมีการผสมสารภายในสถานที่ต่าง ๆ ก็สามารถตรวจสอบได้ จากเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัยที่มีความละเอียดในการตรวจสอบสูงเข้าร่วมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี

สำหรับคดีนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะฉะนั้นการหาพยานหลักฐานทางเคมีจะมีประโยชน์อย่างมาก หากพบว่ามีสารไซยาไนด์ ของใช้ส่วนตัวของผู้ต้องหา ก็จะสามารถนำไปประกอบสำนวนคดีเอาผิดผู้ต้องหาได้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล

รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อาจารย์อ๊อด"

เชื่อ "แอม" มีความรู้เคมี หลังพบยาแก้พิษ ไซยาไนด์

อาจารย์อ๊อด ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างวัตถุพยานที่เก็บด้วยวิธีการสวอปมาจากภายในรถเก๋งซีวิคสีดำ ทะเบียน กข 5665 สุโขทัย ซึ่งเป็นของนางสรารัตน์ หรือแอม พบว่าบริเวณคอนโซลด้านหน้าขวาภายในรถ และบริเวณที่นั่งคนขับ พบปริมาณสารไซยาไนด์ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งรถคันนี้เป็นรถที่แอม ผู้ต้องหา และสามีใช้ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบวัตถุพยานชิ้นล่าสุดที่เพิ่งได้รับมาจากกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นกล่องพัสดุทางไปรษณีย์ที่มีการสั่งซื้อส่งมาให้แอม ภายในบรรจุเป็นผลึกสีขาวใส ซึ่งทางทีมงานของอาจารย์อ๊อด ได้ใช้เทคนิคในการตรวจสอบ ผลึกสีขาวใสดังกล่าว พบว่าเป็นสาร "โซเดียม ไทโอซัลเฟต"

มองว่าแอม มีความรู้ทางเคมี จึงทำให้สามารถสั่งซื้อสารโซเดียม ไทโอซัลเฟต ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สารชนิดคือ "ยาแก้พิษ ไซยาไนด์" และโซเดียม ไทโอซัลเฟต ยังมีการนำไปใช้ในนากุ้ง และบ่อปลาได้อีกด้วย

อ.อ๊อด เชื่อ \"แอม\" มีความรู้เคมี หลังตรวจเจอสารแก้พิษ \"ไซยาไนด์\"

ใช้เทคนิค laser raman ตรวจเจอ "โซเดียม ไทโอซัลเฟต"

เมื่อวาน (27 เมษายน) ได้สกรีนตัวอย่างจากบ้านแพ จ.ราชบุรี เป็นวัตถุพยานที่ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมา เป็นลักษณะผลึกใสเป็นของที่ผู้ต้องหาสั่งซื้อเข้ามา ได้มีการแบ่งไปพิสูจน์ 2 ที่ คือ พิสูจน์หลักฐานกลางและที่ของทีม อ.อ๊อด

โดย อ.อ๊อด ก็ใช้ laser raman ก็ไปตรงกับโซเดียม ไทโอซัลเฟต ตอนตรวจเจอก็ตกใจเพราะคนที่จะรู้จัก โซเดียม ไทโอซัลเฟตน้อยมาก แม้แต่ตนเองยังไม่รู้ว่าเอาทำอะไร ทำให้ต้องค้นหาคำตอบก็พบว่า เป็นยาแก้พิษไซยาไนด์ ตนเองก็ไม่รู้รายละเอียดการแก้พิษ นอกจากแก้พิษไซยาไนด์ได้แล้ว ยังฆ่าเชื้อโรคในสัตว์น้ำเล็ก ๆ

ส่วนวัตถุพยานหลักฐานอื่นมาจากการสวอปของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ที่เข้ามาตรวจสถานที่เกิดเหตุ เช่น รถยนต์ ในบ้าน กระเป๋า ห้องน้ำ  ลูกบิดประตู คอนโซนหน้ารถ ทุกอย่างที่จับต้องได้ตรวจหมด เทคนิคการตรวจคือ ion chromatography เพราะตัวสารที่เจอในศพคือสารไซยาไนด์ โดยมาในรูปของโพแทสเซียมไซยาไนด์ โดยโพแทสเซียมไซยาไนด์จะแตกตัวเป็นไอออนได้ดีมาก เพราะฉะนั้นเครื่องตรวจจับจะต้องเป็นเครื่องเฉพาะ และได้มีการเตรียมแผนสำรองทั้งหมด 4 เทคนิค ซึ่งในวันนี้ทำการตรวจต่อเนื่อง ส่วนผลก็จะทยอยรายงานไปให้กับทางตำรวจ

เผย สารไซยาไนด์ หาซื้อง่าย เตือนคนผลิต-นำเข้า มีโทษหนัก

อาจารย์อ๊อด กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบการหาซื้อสารไซยาไนด์ ในโซเชียลมีเดีย หาซื้อง่ายและมีอยู่เป็นจำนวนมาก พอหลังเกิดเคสแอม ทำให้การค้นหาการซื้อขายลดไปกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้ไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 บทลงโทษ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ครอบครัวเหยื่อ เก็บหลักฐานไว้อย่างดี เตรียมตรวจหาการปนเปื้อน สารไซยาไนด์

รศ.ดร.วีรชัย ยังได้ยกเคสเหยื่อที่น่าสนใจ คือ กรณีของ น.ส.ผุสดี สามบุญมี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ตอนเสียชีวิตมีอาการน้ำลายฟูมปาก และสันนิษฐานว่าอาจจะโดนวางยา ซึ่งวัตถุพยานที่ตำรวจส่งไปตรวจ คือ กล่องยาที่อยู่ในตู้เย็น 2 ซอง และ ซองลำสีที่เช็ดตามบริเวณต่าง ๆ ในบ้าน ขวดน้ำดื่ม 3 ขวด น้ำกลั่นคอลโทล 1 ซอง และ น้ำยานางใบเตย 1 ขวด วัตถุพยานเหล่านี้ คนในครอบครัวเก็บไว้อย่างดี แต่สภาพแวดล้อมในห้องไม่สามารถเก็บวัตถุพยานเพิ่มได้แล้ว เพราะมีการทำความสะอาดห้อง

ตอนนี้กำลังเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจดูว่ามีการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์หรือไม่ โดยเคสของ น.ส.ผุสดี จะเริ่มการตรวจและรู้ผลภายในอาทิตย์หน้า เพราะต้องสกัดก่อน และต้องดูความเป็นพิษต่อผู้ตรวจสอบด้วย เพราะฉะนั้นการใช้เวลาจะแตกต่างจากการสวอปบนของแข็ง เช่น พื้นโต๊ะ ลูกบิดประตู คอนโซลหน้ารถที่จะปลอดภัยกว่า แต่วัตถุพยานที่เป็นน้ำ ต้องทำการทดสอบและทำการตรวจด้วยความระมัดระวัง คาดว่าต้นสัปดหา์หน้าจะทราบผลของเคสดังกล่าว

รู้จัก "โครมาโทกราฟี" เครื่องตรวจหา "ไซยาไนด์" 

ในการตรวจหาสารไซยาไนด์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อความแม่นยำของผลตรวจ โดยขั้นตอนการตรวจหาสารไซยาไนด์ในวัตถุพยาน จะใช้เทคนิค GC-MS เป็นหลัก เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรมิเตอร์ (Gas Chromatograph - Mass Spectrometer, GC-MS) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการวิเคราะห์หาสารประกอบอินทรีย์ประเภทต่างๆ  เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่ต้องการความแม่นยำสูง สามารถเปรียบเทียบผลวิเคราะห์กับฐานข้อมูล (Library) เพื่อความถูกต้องได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารมาตรฐาน

เครื่อง GC-MS ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนของเครื่อง GC (Gas Chromatograpy) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการแยกองค์ประกอบของสารที่มีอยู่ในตัวอย่างให้ออกมาทีละองค์ประกอบก่อนที่จะเข้าสู่ดีเทคเตอร์ และส่วนของเครื่อง MS (Mass Spectrometer) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นดีเทคเตอร์ในการตรวจสอบดูว่าองค์ประกอบต่างๆ ที่ผ่านออกมาจากเครื่อง GC นั้น มีเลขมวล (Mass number) เป็นเท่าไร  โดยสารจะเกิดการแตกตัวอยู่ในรูปประจุ เรียกว่า Molecular ion, M+ หรือ M+. รูปแบบการแตกตัวของแต่ละโมเลกุลมีลักษณะเฉพาะ เรียกว่าแมสสเปกตรัม (Mass spectrum) โดยจะแสดงการแตกตัว (Fragmentation) ในรูปของมวลต่อประจุ เพื่อทำนายว่าสารที่ต้องการวิเคราะห์นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบชนิดใดบ้างและมีปริมาณเท่าไร

อ.อ๊อด เชื่อ \"แอม\" มีความรู้เคมี หลังตรวจเจอสารแก้พิษ \"ไซยาไนด์\"