28 เมษายน 2566 ที่ สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เรียกประชุมความคืบหน้าในการทำสำนวนคดี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ "แอม ไซยาไนด์" ซึ่งขณะนี้พบเหยื่อที่มีความเชื่อมโยง ทั้งหมด 14 ราย แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 13 ราย และ ผู้รอดชีวิต 1 ราย
โดยตลอดช่วงเช้าวันนี้ ตำรวจชุดทำคดี จากกองบังคับการปราบปราม และ ตำรวจภูธรภาค 7 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ทยอยเข้ามาร่วมประชุม และรายงานผลการทำสำนวนต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มาจากต่างประเทศ
สำหรับผลของการทำไทม์ไลน์ พยานแวดล้อม ผลการสอบปากคำแพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะผ่าศพหรือไม่ผ่าศพ และการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และผลทางนิติวิทยาศาสตร์ จากการตรวจวัตถุพยานที่ตรวจเก็บได้จากในรถของผู้เสียชีวิต รถของผู้ต้องหา และในบ้านของผู้ต้องหา บ้านของพี่สาวผู้ต้องหา มาประชุมพิจารณาว่า คดีการวางยานี้ จะมีใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และรู้เห็นกับแอมอีกหรือไม่ และจะสามารถออกหมายจับ ใครได้อีกบ้าง รวมทั้งจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาแอมเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่
ด้าน นางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า หลังถูกคุมขังในเรือนจำเป็นวันที่ 2 แอมปรับตัวได้ดีขึ้น สามารถอยู่กับผู้ต้องขังรายอื่นในห้องกักโรค และจากที่ทีมสหวิชาชีพและนักจิตวิทยาของเรือนจำสังเกต พบว่า แอมได้พูดคุยกับผู้ต้องขังรายอื่นทำให้อาการเครียดลดน้อยลง แต่ยังมีความวิตกกังวลอยู่เล็กน้อย แต่ไม่เหมือนวันแรกที่เข้ามาในเรือนจำแล้วแอมมีอาการเครียดจนความดันขึ้นสูง ต้องพาเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเมื่อหมอให้ยาอาการก็ดีขึ้น ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ห้องกักโรคตามเดิม
ทั้งนี้ ต้องมีการควบคุมเฝ้าระวังอาการตามกฎกระทรวงสาธารณสุขป้องกันโควิดให้ครบ 5 วัน จึงจะไปย้ายไปอยู่ที่ห้องบับเบิลโซน อีก 5 วัน ก่อนย้ายเข้าสู่แดนแรกรับได้ปกติ ส่วนเด็กในครรภ์ของแอม เมื่อวานนี้ (27 เมษายน) สูตินารีแพทย์ได้เข้ามาดูแล โดยมีการตรวจสัญญาณชีพของเด็ก พบว่าอาการและสัญญาณชีพปกติ ไม่มีความน่ากังวลใด ๆ
ส่วนประเด็นเรื่องอาการทางจิตของแอม ขณะนี้ไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งต้องรอให้แพทย์เป็นผู้สรุปข้อมูลอย่างละเอียดก่อนส่งมาอีกครั้ง โดยระหว่างที่แอม อยู่ในห้องกักโรค ไม่มีญาติติดต่อขอเข้าเยี่ยม มีเพียงนางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความของแอม ได้ติดต่อเข้ามาเพียงคนเดียว