27 เมษายน 2566 จากกรณี "แอม ไซยาไนด์" ผู้ต้องหาวางยา"ไซยาไนด์" ฆาตกรรมต่อเนื่อง คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 ราย ซึ่งญาติทยอยออกมาให้ข้อมูลกับตำรวจ ว่า ทุกคนเสียชีวิตหลังจากได้พบกับ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ "แอม" เป็นคนสุดท้าย กระทั่งตำรวจออกหมายจับ แล้วส่งฝากขังต่อศาลไปเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังพบเหยื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงคดีแอมไซยาไนด์ ว่า ขณะนี้ได้กำชับตำรวจดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งทราบว่ากำลังทำงานอยู่เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ด้านพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า คดีนี้เป็นฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย และรอดชีวิต 2 ราย รวมมีเหยื่อ 13 ราย และ เชื่อว่าน่าจะมีอีก โดยขณะนี้ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค7 ตั้งศูนย์อำนวยการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือมีเบาะแสสามารถเข้ามาให้ข้อมูลกับตำรวจได้ตลอดเวลา ซึ่งตนได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. กำกับดูแลในภาพรวมทั้งหมด
“กำชับเรื่องการทำงานของตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้ไปมาประกอบ เพราะเป็นคดีฆาตกรรม ฆ่าไตร่ตรองในหลายพื้นที่ ย้ำว่าหากใครมีญาติที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็ให้มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ศูนย์อำนวยการฯ ภาค7 หรือ โรงพักใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหาพยานหลักฐาน”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุอีกว่า ส่วนที่อดีตสามีของผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจและพี่สาวเป็นเภสัชกรนั้น ก็จะต้องสอบสวนทั้งหมด คาดว่าต้องใช้เวลา ซึ่งจากแผนประทุษกรรมเชื่อว่าผู้ต้องหาคิดว่าใช้วิธีฆาตกรรมแบบนี้จะไม่ถูกดำเนินคดี แต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมตัวได้ ส่วนการก่อเหตุจะมีผู้ร่วมขบวนการด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ รวมทั้งที่มีกระแสข่าวว่ามีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานแต่อย่างใด
"จากนี้การตรวจชันสูตรของนิติเวช รพ.ตำรวจ จะตรวจอย่างเข้มข้นขึ้น และจะพิจารณาตรวจสารไซยาไนด์ในศพที่การตายผิดปกติ โดยจะเอาข้อมูลจากเคสดังกล่าวมาเป็นข้อมูลประกอบ"