27 มีนาคม 2566 เมื่อเวลา 8.30 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง พร้อมทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม
โดยนายชูวิทย์ กล่าวว่า การใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เมื่อมีอาชีพทนายก็ต้องใช้กฎหมาย เมื่อมีคนเดือดร้อน กลับไปคิดเงินค่าแถลงข่าว 3 แสนบาท มันไม่มีโจทก์ ไม่มีจำเลย ตัวเองก็ไม่มีหลักฐาน นั่นแปลว่าคุณพูดฝ่ายเดียวหรือไม่ ตนไม่คิดว่าทนายความจะคิดเงินค่าแถลงข่าว ดังนั้นสมาคมทนายความหรือสื่อมวลชนควรจะพิจารณา
นายชูวิทย์ ยังระบุว่า เป็นทนายความต้องใช้ความสามารถ ต้องใช้หลักฐาน ใช้พยานแต่ปรากฏว่าฝ่ายอีกฝ่ายใช้การแถลงข่าว นั่นไม่ใช่วิถีของทนายความ โดยอย่างยิ่งบอกว่าตัวเองเป็นทนายประชาชน ส่วนเงินบริจาคจำนวน 6 ล้านบาท ที่ทางโรงพยาบาลคืนมา อยากให้ติดตามว่าวันพรุ่งนี้ (28 มีนาคม) จะเอาไปให้ใคร
ตอนนี้มีกระบวนการพยายามที่จะมาปิดปากผม มีทั้งทนาย พวกหิวแสง นักร้องเรียน ใครฟ้องมาผมก็จะฟ้องกลับ จะสู้ในทางกฎหมาย ผมพร้อมสู้ทุกทาง เวลาสู้ก็จะไม่ค่อยเหมือนกัน ฝากไปบอกหมาลอบกัด ผมพร้อมจะกัดตอบ กูไม่กลัวมึง
ด้าน ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า จากการพิจารณาเบื้องต้น จะพิจารณา ใน 3 ประเด็น คือ 1.การแถลงข่าวและการให้สัมภาษณ์ของทนายตั้ม หมิ่นประมาทหรือไม่ 2.ผิดมรรยาททนายความหรือไม่ 3.ชูวิทย์มีความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่
ประเด็นที่ 1 การกระทำจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิอาญา มาตรา 326 และ 328 หรือไม่ ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวเช่น สถานที่ เวลา และโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกัน
กรณีนี้เห็นว่า การที่ทนายตั้ม แถลงข่าวในลักษณะที่กล่าวหาคุณชูวิทย์ ทำนองว่าเหตุที่ออกมาแฉเรื่องผิดกฎหมาย เพราะหวังให้พวกกระทำผิดกฎหมายมาหา เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ และกล่าวหาใส่ความว่า คุณชูวิทย์รับเงินเพื่อไม่ให้เปิดโปงสารวัตรซัว จำนวน 10 ล้านบาท ไม่ใช่ 6 ล้านบาท (จำนวนเงินมากน้อยเท่าใดไม่ใช่ประเด็น)
และกล่าวหาว่า กล่องดวงใจ หมายถึงบุตรชายของคุณชูวิทย์รับเงินดิจิตอล จำนวน 50 ล้านบาท และมีการเรียกรับผลประโยช์เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการกล่าวในช่วงเวลาที่คุณชูวิทย์แถลงหรือให้สัมภาษณ์เปิดโปงการกระทำโดยมิชอบของสารวัตรซัว โดยมุ่งหมายดิสเครดิต ลดความน่าเชื่อถือ สร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของคุณชูวิทย์ และบุตรชาย การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของทนายตั้ม เข้าข่ายฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
ทนายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า หากยังจำกันได้ คุณชูวิทย์ เคยออกมาประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า เงินรางวัล 5 % รางวัลนำจับยึดทรัพย์คดียาเสพติด จะนำไปบริจาคให้ รพ. เพราะมีเงินใช้มากพออยู่แล้ว คุณชูวิทย์ จึงไม่มีความจำเป็นหรืออยากได้เงินอีกแต่อย่างใด การที่ออกมาประกาศว่าการเปิดโปงทุจริตต่าง ๆ ครั้งนี้ เพราะว่าเห็นการทุจริตคอร์รัปชันต่าง ๆ มากมาย ที่ทำให้สังคมไทยเน่าเฟะมานานแล้ว ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ เห็นว่าทนายตั้ม ตอนนี้ร่ำรวยมาก เลยจะฟ้องเรียกค่าเสียต่อชื่อเสียงสัก 100 ล้านบาท
ประเด็นที่ 2 การกระทำของทนายตั้ม เป็นการให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวโดยไม่กลั่นกรองข้อเท็จจริงตามวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความโดยทั่วไป มีลักษณะชี้ช่องส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีโดยไม่มีมูลความจริง ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 ข้อ 9 "กระทำการอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้" มีโทษสูงสุดต้องถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ดังนั้น การกระทำของทนายตั้ม น่าจะมีความผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะมีการร้องสภาทนายความต่อไปแน่นอน
ประเด็นที่ 3 กรณีที่โฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ ผู้บริหาร ป.ป.ง. ที่ออกมา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การนำเงินของนายชูวิทย์ ไปบริจาคอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งตนมองว่า ไม่ควรให้สัมภาษณ์ในลักษณะชี้นำแบบนั้น ควรจะให้สัมภาษณ์ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบหรือรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิด ม.157 และ ม.200
ทนายอนันต์ชัย ยังบอกอีกว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป คุณชูวิทย์ จะไม่ออกมาตอบโต้ทนายตั้มอีก ไม่ใช่กลัว แต่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน คุณชูวิทย์ จะใช้กระบวนการยุติธรรม คือ ศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหากทนายตั้มมีการแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะใส่ความให้คุณชูวิทย์ได้รับความเสียหายอีก คุณชูวิทย์ ก็จะใช้สิทธิทางศาลทั้งทางอาญาและทางแพ่งและเรียกค่าเสียหายทุกครั้งไป ครั้ง 100 ล้านบาท