1 กุมภาพันธ์ 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกรณี อันหยูชิง หรือ Charlene An ดาราสาวไต้หวัน กับกลุ่มเพื่อน ถูกตำรวจไทยตั้งด่านรีดไถเงิน 27,000 บาท โดยก่อนแถลง นายชูวิทย์ ได้ตีปี๊บ และกล่าวระหว่างเดินว่า จะนำปี๊บดังกล่าวไปฝากให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) คลุมศีรษะไว้ เพื่อซ่อนจากข้อเท็จจริงที่จะเปิดเผย
ชูวิทย์ เชื่อตั้งด่านทำเป็นขบวนการ
นายชูวิทย์ กล่าวว่า การตั้งด่านของตำรวจ มีการทำเป็นขบวนการ จัดสรรส่วนแบ่งให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน การตั้งด่านนี้ ทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่เพิ่งมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 จากนี้แทนที่นักท่องเที่ยวจะกลัวโจรผู้ร้าย กลับต้องมากลัวตำรวจ ที่ควรจะดูแลความปลอดภัยของพวกเขา
วันเกิดเหตุ สาวไต้หวันไม่ได้พกบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ชูวิทย์ ได้เปิดภาพที่ตำรวจนำบุหรี่ไฟฟ้าใส่มือของ อันหยูชิง พร้อมกล่าวว่า เป็นความจริงที่อันหยูชิง ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่วันที่เกิดเรื่องเธอไม่ได้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาด้วย
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ถ้าวันนี้ตำรวจต้องการคืนเงิน 27,000 บาท ให้กลุ่มผู้เสียหาย ตนเชื่อว่าเขาจะไม่รับแล้ว เพราะทั้งหมดไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งที่ผ่านมา ยังถูกเจ้าหน้าที่ใส่ร้ายมาตลอด เปรียบตำรวจ ไม่ดีเป็นนิ้วร้าย ที่ต้องตัดทิ้ง เชื่อว่าวันนี้ไม่มีนิ้วเหลือให้ตัดแล้ว
พยานหนุ่มสิงคโปร์เล่าเหตุการณ์หน้าสถานทูตจีน
ต่อมา นายชูวิทย์ ได้เชิญ "สกาย" เพื่อนชายชาวสิงค์โปร์ ของอันหยูชิง มาร่วมแถลงข่าวด้วย โดย "สกาย" กล่าวว่า ถ้าไม่ไว้ใจนายชูวิทย์ ก็คงไม่เดินทางมา วันที่เกิดเรื่อง ตนกับกลุ่มเพื่อน รวมทั้งอันหยูชิง ได้ไปเที่ยวงานวันเกิดเพื่อนอีกกลุ่ม หลังจากนั้นระหว่างเดินทางกลับโรงแรมที่พัก ซึ่งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ได้พบเจอตำรวจกำลังตั้งด่านหน้าสถานทูตจีน ใช้ไฟฉายส่องเข้ามาในรถที่นั่งอยู่
จากนั้นตำรวจที่ประจำด่าน บอกให้รถจอดเข้าข้างทางให้ทุกคนลงจากรถ แล้วเข้ามาจับตามตัว ค้นกระเป๋า ให้นำเอกสาร หนังสือเดินทางออกมาแสดง รวมทั้งให้ถอดรองเท้า ซึ่งในวันดังกล่าว ตนไม่ได้นำพาสปอร์ตออกมาจากที่พัก
สกาย กล่าวต่อว่า จากการตรวจตามตัว ตำรวจพบบุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน เจ้าหน้าที่ถามต่อว่า มาจากประเทศไหน ตอนนั้นทางกลุ่มเองเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมตำรวจทำเป็นเรื่องใหญ่ สั่งห้ามโทรศัพท์ ห้ามติดต่อใคร หรือถ่ายรูป ในเหตุการณ์ ฝั่งตนมีเพียงตนเองที่พูดไทยได้ นอกนั้นไม่มีใครพูดได้
ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย เพราะซื้อมาจากตลาดห้วยขวาง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พูดขึ้นว่า "อย่ากวนตีน" ระหว่างที่ตนเองถามถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องตรวจมากมาย เพราะตน และเพื่อนไม่ได้ทำผิดกฎหมายแน่นอน พร้อมอธิบายว่า ตามปกติแล้วการเดินทางเข้าประเทศไทย ของคนสิงค์โปร์ ไม่จำเป็นต้องมีวีซ่า ยกเว้นกรณีที่อยู่อาศัยเกินกว่า 10 กว่าวันขึ้นไป ส่วนตัวที่เดินทางมา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 เพื่อฉลองเทศกาลปีใหม่ และอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 5 มกราคม เป็นวันที่กำหนดเดินทางกลับ
ส่วนหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต ที่เจ้าหน้าที่พยายามเรียกดู ตนได้ตอบไปว่า เอกสารต่าง ๆ อยู่ที่พัก ถ้าจะตรวจขอเวลากลับไปนำมาแสดง ซึ่งตนมีเพียงรูปถ่ายพาสปอร์ต แต่ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ฟัง และพยายามโต้แย้งว่า ต้องแสดงเอกสารทันที และต้องเป็นตัวจริง ห้ามไปไหน และพยายามแจ้งว่า การที่พกพาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิด
สกาย จึงตอบเจ้าหน้าที่ไปว่า ตนและเพื่อน ไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย พร้อมถามกลับว่า ถ้าผิดกฎหมายจริงทำไมถึงมีขายได้ทั่วไป เพราะบุหรี่ไฟฟ้าที่ตำรวจยึด ตนก็ซื้อมาจากตลาดห้วยขวาง และเห็นคนไทยใช้ตามปกติอยู่ ไม่มีใครบอกว่าผิด
ตำรวจชุดตั้งด่าน ข่มขู่รีดเงินค่าพกบุหรี่ไฟฟ้า-ไม่มีพาสปอร์ต 27,000 บาท
เมื่ออธิบายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเสร็จ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มมีทีท่าทีโมโห และบอกว่า ถ้าอย่างนั้นทั้งหมดต้องไปสถานีตำรวจ และจะต้องติดคุกอย่างน้อยอีก 2 วัน แม้ตนจะแย้งไปว่า ถึงกำหนดเดินทางกลับแล้ว เมื่อเจรจาได้ระยะหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่พาไปหาเจ้าหน้าที่อีกรายที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ และแจกแจงให้กับตนเองฟังว่า บุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน อันละ 8,000 บาท ส่วนที่ไม่พบพาสปอร์ตอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท
พยานจำหน้าตำรวจที่รีดเงินได้อย่างแม่นยำ
โดยตำรวจที่เข้ามาพูดคุยเรื่องเงินมี 3 นาย โดยนายแรก เป็นชายไม่ได้สวมเครื่องแบบตำรวจ สวมเพียงแจ็คเก็ต ไว้หนวดเครา คนนี้ทำหน้าที่ในการเรียก และรับเงินจากนายสกาย และเก็บเงินเข้ากระเป๋า ส่วนตำรวจนายที่ 2 รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน ทำหน้าที่บังกล้อง ส่วนตำรวจนายที่ 3 เป็นคนรูปร่างผอม ใส่ผ้าคลุมหน้า โดยจะเข้ามาร่วมรับฟังการพูดคุยด้วย
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ได้ยื่นบุหรี่ไฟฟ้ามาให้อันหยูชิงถือ พร้อมถ่ายภาพ ตอนนั้นทั้งกลุ่มเครียดมาก เพราะไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน และทั้งหมดอยากออกจากจุดนั้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงอยากออกจากประเทศไทย ไม่อยากอยู่ต่อ เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดเรื่องอะไรขึ้นอีก
หลังเกิดเพื่อนในกลุ่มไม่ค่อยอยากพูดคุย เพราะรู้สึกเครียด
สกาย ยังกล่าวด้วยว่า วันเกิดเหตุ ตนมีเงินติดตัว 30,000 บาท ตอนที่ให้เงินกับทางตำรวจ ตอนพาเดินไปที่มุมหนึ่งของด่านตรวจ จากนั้นให้ตนเอง นับเงินให้เรียบร้อย และให้คนในกลุ่มของตนมายืนบังมุมกล้อง เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อย เจ้าหน้าที่เรียกแท็กซี่ให้ และให้บอกแท็กซี่ว่าจะไปไหนต่อ
หลังผ่านเหตุการณ์นั้นมา เพื่อนในกลุ่มไม่ค่อยอยากพูดคุยกัน เพราะทุกคนยังเครียด แต่ยืนยันว่า ตอนนั้นไม่ได้เมา เหมือนที่มีคนออกมาพูด และพยายามสื่อสารกับเจ้าหน้าที่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีเหตุผล ถ้าอยากจับ ก็จะต้องมีเหตุผล ถ้าสงสัยอะไรก็ต้องพูดคุย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจไม่มีเหตุผลอะไร และบอกว่าต้องไปสถานีตำรวจอย่างเดียว ทำไมต้องทำแบบนี้
ยอมจ่ายเงินเพราะตำรวจพูดจาในลักษณะบีบบังคับ
สำหรับเงินที่จ่ายไป สกาย ยืนยันว่า ตำรวจกลุ่มนั้น แสดงท่าที และพูดจาในลักษณะบีบบังคับ ให้จ่ายเงิน โดยที่ตนเองไม่ได้เสนอให้ ทั้งนี้เงิน 30,000 บาท ที่จ่ายไป ตั้งใจว่าจะซื้อของฝากให้ครอบครัว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ เพราะทางตำรวจ ให้เหลือเงินไว้ติดตัวเพียง 3,000 บาท หลังจากกลับมาเพื่อนในกลุ่ม มีการพูดคุยกัน และคิดว่าถ้าตอนนั้น มีทางเลือกก็คงไม่ให้เงิน แต่ให้ไป เพราะตำรวจจะพาไปที่สถานีตำรวจอย่างเดียว
ขณะเดียวกัน นายชูวิทย์ ได้จัดทำแฟ้มรายชื่อพร้อมรูปภาพ ของตำรวจ สังกัดสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง มาจำนวนหนึ่ง และเปิดให้พยานหนุ่มสิงคโปร์ดู 2 ภาพ แล้วถามว่า จดจำใครได้บ้าง ซึ่งเมื่อ "สกาย" ดูภาพตำรวจทั้ง 2 นายแล้ว ได้พยักหน้า
ภายหลังการแถลงข่าว ทาง "สกาย" ได้เดินออกไปพร้อมกับที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร., พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 ที่เดินทางมารอทำการสอบปากคำวันนี้ โดย พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า ขอเวลาขึ้นไปพบกับพยานคนสำคัญก่อน ขณะที่ได้ให้ คณะกรรมการ และทีมพนักงานสอบสวน จำนวน 4-5 นาย เข้ามาร่วมสอบปากคำพยานอย่างละเอียด และครอบคลุมทุกประเด็น