ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) วันที่ 17 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิม วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธี วันตำรวจ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2492 กระทั่งเมื่อปี 2560 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทย ให้เป็นวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระองค์ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากมีการจัดพิธีทางศาสนาพร้อมบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามจุดต่างๆตามปกติเช่นเดียวกับวันตำรวจของทุกปีแล้ว ในปีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดสร้างป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขนาดใหญ่อลังการ เพิ่มขึ้นใหม่อีกหนึ่งจุด โดยตั้งอยู่ด้านหน้า ประตูทางเข้าด้านถนนพระราม 1 มีขนาดใหญ่มีระดับสูงกว่าของจุดเดิมที่ตั้งอยู่กลางระหว่างประตูทางเข้าออก ซึ่งในขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง 2 จุด ตั้งอยู่ระยะห่างกันเพียงแค่ 10 เมตร
สำหรับ"ป้าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จุดเดิมนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทำพิธีเจิมแผ่นป้ายชื่อ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2541 หลังมีพระราชกฤษฎีกา ถ่ายโอนให้กรมตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และให้เปลี่ยนชื่อจาก กรมตำรวจ เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับประวัติความเป็นมาของป้ายชื่อหน่วยงานขององค์กรตำรวจ ว่า แรกเริ่มมีการจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยขณะนั้น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ หลังจากที่มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาประดิษฐานที่หน้าอาคาร 1 เมื่อมองเข้ามาจากภายนอก จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์เด่นเป็นสง่า แต่รั้วหรือประตูยังไม่เรียบร้อย จึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยมีการจำลองบานประตูรั้ว มาจากรั้วของพระที่นั่งอนันตสมาคม และเสาไฟประดับ จำลองมาจากโคมไฟหน้าสถานทูตอังกฤษ ส่วนป้ายชื่อทำจากหินแกรนิต ติดตัวหนังสือ เขียนข้อความในตอนนั้นว่า กรมตำรวจ ทำขึ้นจากสแตนเลส ราคาจัดทำตอนนั้นประมาณ 50,000-60,000 บาท
กระทั่งปี พ.ศ. 2541 หลังจากที่มีการโอนและเปลี่ยนชื่อหน่วยงานมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีการจัดพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล โดย พล.ต.ต.พจนารถ หวลมานพ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานเพื่อกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นประธานในพิธีเจิมป้ายเพื่อความเป็นสิริมงคล และเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่จาก กรมตำรวจ เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนแรก เข้าร่วมในพิธีด้วย"
"ซึ่งป้ายนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้รู้ว่า หน่วยงานแห่งนี้เป็นที่ทำงานของส่วนราชการที่มีหน้าที่ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแล ป้องกันความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนและสังคม ถือเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติภูมิของหน่วย" และความภาคภูมิใจของตำรวจที่มีต่อป้ายชื่อองค์กร นอกจากป้ายชื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจิมเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ภายในสำนักงานตำรวจฯ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ข้าราชการตำรวจทุกคนเคารพ และถือเป็นเครี่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ประกอบด้วย หอพระนิรันตราย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้เป็นพระพุทธรูปประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พระนารายณ์ ที่ประดิษฐานหน้าอาคาร 19 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ศาลพระภูมิ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เปรียบเสมือนเป็นพระบิดาของข้าราชการตำรวจ
ต่อมาเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2557 มีการชุมนุมทางการเมืองและได้มีการบุกทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสียหายยับเยิน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตำรวจทุกคนรู้สึกเสียใจ แต่รวมไปถึงประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กระทำเอง ก็คงรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป ซึ่งความเสียหายไม่ใช่เฉพาะแค่ป้าย หรือแค่ทรัพย์สินราชการ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเสียหายทางความรู้สึกและจิตใจ"ของบรรดาข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไป
เหตุการณ์ทำลายป้ายชื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ขณะนั้นได้ดำเนินคดีกับผู้ที่บุกทำลายทั้งหมด 21 คน และต่อมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในขณะนั้นมอบหมายให้ พล.ต.อ.พีระ พุ่มพิเชฎฐ์ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 ในขณะนั้นได้จัดทำขึ้นใหม่ให้สวยงามและยิ่งใหญ่เหมือนเดิม