25 กรกฎาคม 2566 "ดร.ธนกร ศรีสุขใส" ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผย ระหว่างร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพร้อมฉายภาพยนตร์สารคดี Duck Academy รอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน ว่า การเข้าร่วมสนับสนุนครั้งนี้ของกองทุนสื่อฯ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสชม Duck Academy สารคดีของไทยซึ่งสร้างชื่อในเวทีโลก ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาสื่อของกองทุน
ภายใต้กลยุทธ์ 2 สร้าง คือสร้างคน สร้างบุคลากรตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ผลิตหน้าใหม่ๆ รวมถึงผู้ผลิตที่เคยทำงานอยู่แล้ว รวมถึงไปร่วมมือกับผู้ผลิตที่เป็นมืออาชีพ และสร้างสื่อ ซึ่งสื่อที่สร้างไม่จำเป็นที่กองทุนฯ ต้องไปสร้างเองทั้งหมด สื่อดีๆ ที่มีอยู่แล้วก็มาต่อยอดส่งเสริมเผยแพร่ในตลาดต่อไป
“โครงการนี้ เป็นเรื่องที่เราได้คุยกับบริษัทป่าใหญ่ ในนามที่เขาเป็นองค์กรที่ทำเรื่องสารคดีโทรทัศน์ พอดี "Duck Academy" ไปดังอยู่ต่างประเทศพอดี ความจริงเราคุยกันเรื่องจะฝึกอบรมทำโครงการอบรมผู้เขียนสารคดีซึ่งทางป่าใหญ่เขามีประสบการณ์และมีผู้ผลิตหลายรายที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ กองทุนก็คิดจะร่วมมือกันในการทำโครงการฝึกอบรมผู้เขียนสารคดี
พอดี "Duck Academy" เป็นสปริงบอร์ด กลับเข้ามาในประเทศไทย เราจึงใช้โอกาสนี้ในการปลุกให้คนกลับมาสนใจเรื่องการผลิตสารคดี ซึ่งวันนี้เรากำลังจะตอบกับสังคมว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีฝีมือ มีความรู้ความสามารถและผลงานสามารถไปแข่งขันในต่างประเทศได้ มีรางวัลเยอะแยะมากมายที่เคยได้รับ เขาเรียกว่าขุมทรัพย์ ด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์เรามีอยู่แล้วจึงอยากเอาตรงนี้มาสร้างกลไกลในการถ่ายทอด จึงเป็นที่มาในความร่วมมือกันวันนี้" ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว
"ดร.ธนกร" กล่าวว่า สารคดีเรื่องนี้ต้องการ สะท้อนการปะทะของโลกที่เป็นสังคมชนบทของสังคมเกษตร กับโลกทุนนิยมที่มีการค้า การลงทุน การผลิตขนาดใหญ่ การต่อสู้เพื่อรักษาวิถีแบบธรรมชาติ พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ปลอดจากสารเคมี ส่วนในแง่ของโปรดักชั่น เทคนิคการถ่ายดีมาก ถือเป็นสื่อน้ำดี ได้ทั้งรูปแบบ และเนื้อหาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่จะมาสร้างสรรค์สารคดี
"อยากบอกว่าจริงๆ แล้วคนไทยในงานโปรดักชั่นมีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ มีหลายคนที่ผลงานดีมาก เราเพียงแต่เข้าไปต่อยอด หลายๆ ครั้งเราไม่ได้ไปเริ่มต้นเลย เราไปต่อยอดไปสนับสนุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงาน ความจริงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นหน่วยงานเล็กๆ มีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เราก็บอกกับหน่วยงานที่ทำงานคล้ายๆ กับเราว่ามาร่วมมือกับเรา เราสามารถจับมือกันได้ เราพร้อมที่จะเดินเข้าไปหาทุกหน่วยงานที่เราเชื่อว่าสามารถเป็นพันธมิตรและเครือข่ายเราได้ ถ้าวันหนึ่งในระดับนโยบายภาครัฐ เห็นความสำคัญของงาน Content หรือสื่อที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง มีมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนที่ชัดเจน เราเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างความก้าวหน้าการเติบโต" ดร.ธนกร ระบุ
ด้าน"นายสุริยนต์ จองลีพันธ์" ผู้กำกับสารคดี Duck Academy กล่าวว่า Duck Academy ต่อยอดมาจากสารคดี"ชาวนาทระนง" เรื่องราวของชาวนาจังหวัดลพบุรีที่มีวิธีทำนาโดยใช้เป็ดกำจัดศัตรูพืช ต่อมา ป่าใหญ่ ครีเอชั่น นำสารคดี Duck Academy ออกไปเผยแพร่และจำหน่ายในตลาดโลก จนได้รับรางวัล Best ASEAN Project Pitch จากเทศกาล Asian Side of the Doc (2561) และ Best Short Documentary จาก Devour The Food Film Fest ที่ประเทศแคนาดา (2562)
นอกจากนี้ ยังฉายในเทศกาลสารคดีนานาชาติและสถานีโทรทัศน์หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, โปแลนด์, โครเอเชีย, เม็กซิโก, แคนาดา, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสิงคโปร์ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทั่วโลก เช่น Deutsche Welle และ NHK World ฯลฯ สำหรับผู้สนใจ สารคดี Duck Academy มีกำหนดฉายตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึง วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน