4 มกราคม 2565 ภายหลังตำรวจ ปปป. ได้เข้าจับกุม นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินคดีทุจริตเรียกรับสินบนโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัด ตำรวจได้ทำการออกหมายเรียกเชิญพยานบุคคลมาสอบปากคำ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ และหนึ่งในพยานบุคคลที่เชิญมาในวันนี้ ( 4 ม.ค.65 ) คือนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี
ล่าสุดที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นายชัยวัฒน์ เดินทางเข้าให้ปากคำในฐานะพยานปากสำคัญในคดีกับทางพนักงานสอบสวน พร้อมกับเปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ ได้นำเอกสารและข้อมูลไปให้ปากคำกับกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ได้เข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ปปป. ซึ่งหลักฐานตรงนี้เราเชื่อมั่นกระบวนการและมั่นใจ ทาง ปปป.กับ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจค้นและถ่ายคลิปทั้งหมดประมาณ 4 ตัว ทุกมุมถ่ายไว้ละเอียด ที่สำคัญได้มีการปล่อยคลิปออกมาให้สังคมได้รับรู้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ถ้ามีการปิดบังหรือมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในคดี ก็ไม่น่าจะปล่อยคลิปนี้ออกมา
“ตนจึงเชื่อมั่นว่ามีการทุจริตจริงและไม่มีใครไปกลั่นแกล้ง ตนมีหลักฐานในส่วนที่เป็นรายละเอียดกับคำร้องเรียนเดิมที่มีอยู่ ครั้งนี้จะมาขยายผลให้เห็นคำถามหนึ่งที่ ปปป.จะสอบประเด็นในชุดเงินที่เป็นซองๆ อยู่ มีใครและอยู่ส่วนไหนบ้าง อะไรที่ตนรู้ ตนก็จะขยายให้ มั่นใจกับกระบวนการสอบสวนและจะเดินให้สุดทางแค่ไหน เชื่อมั่นในคลิปวิดีโอว่าชัดเจน หากจะล้มคดี หรือปิดบังคดี ผมคิดว่าท่านไม่ปล่อย เพราะทุกคนในสังคมเห็นหมดแล้ว”
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเรียกรับเงินตนทราบชัดเจนหลังจากเข้ามาทำงานแล้วว่ามีการเรียกรับเงินอย่างไร จะจ่ายเงินอย่างไรรับรู้เรื่องการจ่ายรายเดือน และเก็บเปอร์เซ็นต์จ่ายเท่าไหนเท่าไหร่ และเคยเข้าไปพูดคุยกับเขามาแล้ว เป็นเหตุผลหนึ่งที่อยากให้ทุกคนรับรู้ว่าไม่มีการกลั่นแกล้งแน่นอน
“ได้มีการพูดคุยก่อน ขอว่าอย่าให้มีการเก็บแบบนี้ อย่าทำเลย มันไม่ถูกต้อง เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่อุทยาน ชีวิตเขาก็ลำบากอยู่แล้ว การเดินป่า การลาดตระเวน การทำงานปกป้องป่าแทบจะไม่มีความสุขเหมือนกับชีวิตหน่วยงานอื่นแล้วจะต้องไปกระเบียดกระเสียนเรียกรับในส่วนต่าง จึงคิดว่ามันไม่ถูกต้อง”
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า หลังเกิดเรื่องหลายคนก็เข้ามาให้กำลังใจ บางคนก็โทรศัพท์มาให้กำลังใจและมีคำพูดหนึ่งที่ตนสะท้อนคือ “ขอบคุณพี่ ที่ทำให้พวกผม ทำเพื่อพวกผม และผมจะตอบแทนโดยการดูแลรักษาป่าแทนพี่” ตนเหลืออีกปีกว่า ก็โอเคแล้วคิดว่าคุ้มกับสิ่งที่ทำ ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์ก็มีไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว และคนที่มีส่วนในประโยชน์เรื่องซองก็คงมีอยู่แล้ว อาจจะมีการข่มขู่ มีการจะพูดคุยกันในไลน์ แต่ตนไม่เกรงกลัว "บอกแล้วคนดีไม่ต้องกลัวผม และผมก็ไม่กลัวคนชั่ว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับอธิบดี หลังจากที่ได้กลับไปรับราชการในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ซึ่งเดือนตุลาคมทั้งเดือนได้ช่วยน้ำท่วมอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี กับ จ.ศรีสะเกษ ก็เจอปัญหากับเจ้าหน้าที่ของเรา และมารับรู้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องไปกู้และจำนำรถ เพื่อนำเงินมาจ่ายในระบบเดือนกันยายนโดนไปแล้ว 1 รอบ และจะต้องมาจ่ายรายเดือนอีก
“ผมจึงเข้าไปพูดคุยกับอธิบดี ผ่านหน้าห้องก็คุยกับเขาเรื่องนี้ก่อน แล้วจึงเข้าไปคุยกับอธิบดีโดยตรงว่าไม่ไหวหรอกเรื่องแบบนี้ ถ้าเก็บแบบนี้เขาจะทำงานอย่างไร เมื่อก่อนไม่มีการเก็บแบบนี้ พูดคุยแล้วแต่เขาไม่ยอม ยังยืนยันให้มีการจ่าย ผมจึงนำข้อมูลส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปสู่กระบวนการจับกุมในวันที่ 27 ธันวาคม 2565
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีการจ่ายเงินแบบนี้ภายในองค์กรหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การให้เป็นวัฒนธรรมของคนไทย ทั้งการให้ด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ยอมรับว่ามี แต่วัฒนธรรมการเรียกเก็บแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ที่เรียกเก็บทุกเม็ดทุกเรื่องแบบนี้ ส่วนใครจะจ่ายหรือไม่จ่าย ตนไม่รู้เห็น แต่ตั้งแต่ทำงานมาก็ไม่เคยต้องจ่ายหรือเรียกเก็บใครมาก่อน
ส่วนประเด็นที่ว่า นายชัยวัฒน์ และนายรัชฎา เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดียวกัน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่ได้สนว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันหรือเป็นนายแต่ถ้าใครทำผิดก็ต้องรับผิด ตนยึดการพิทักษ์ป่าเป็นหลัก
นอกจากนี้ยังมีีนายคณนาถ คะชะนา ตัวแทนสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ได้นำช่อดอกไม้มามอบเป็นกำลังใจให้กับนายชัยวัฒน์ที่ต่อต้านกับการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ