ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกมาพูดเรื่องเครื่องบินรบเมียนมา บินล้ำเขตแดนไทยบริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก เพื่อโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยแนวชายแดน โดยระบุว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเป็นการตีวงเลี้ยวล้ำเข้ามาเขตไทยเล็กน้อย และมีการขอโทษแล้ว
แต่เหมือนกระแสดราม่ายังไม่จบ พร้อมตั้งคำถามว่า เครื่องบินรบของไทย ตามไปประกบช้าไปหรือเปล่า จนเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้ว วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร??
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก “ThaiArmedForce.com” โพสต์อธิบายว่า รู้จัก #ADIZ และ #QRA: โดยหลักสากล เรา #ป้องกันภัยทางอากาศ กันอย่างไร?
ปกติแล้วเมื่อภัยคุกคามทางอากาศเกิดขึ้น กองทัพต่าง ๆ จะมีการปฏิบัติกันอย่างไร ต้องทำอย่างไรถ้ามีเครื่องบินไม่ปรากฎสัญชาติเข้ามา และเข้ามาแบบไหนเราจะทำอะไรเมื่อไหร่ ทุกอย่างมีการกำหนดเอาไว้แล้ว เพราะภัยทางอากาศเป็นเรื่องใหญ่ และการรุกล้ำอธิปไตยเหนือน่านฟ้ามักจะเกิดขึ้นเสมอครับ
ดังนั้นบทความนี้ TAF จะเล่าคร่าว ๆ ถึงวิธีการป้องกันภัยทางอากาศ การตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเครื่องบินของฝ่ายไหน และการกำหนดขอบเขตของพื้นที่การป้องกันภัยทางอากาศที่เราเรียกว่า Air Defense Identification Zone เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์การล้ำแดนของ MiG-29 มากขึ้นครับ
จะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือเครื่องบินของใคร
เราทำได้ด้วยการพิสูจน์ฝ่ายครับ การพิสูจน์ฝ่ายก็คือพิสูจน์ว่าเครื่องบินลำนั้นเป็นของฝ่ายไหน ฝ่ายเราหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เป้นของข้าศึกหรือไม่ หรือเป็นเครื่องบินของประเทศที่สามหรือเครื่องบินพลเรือน
โดยปกติตามหลักการแจ้งเตือนภัยทางอากาศแล้ว เมื่อตรวจพบเป้าหมายด้วยวิธีการใดก็ตามจะต้องทำการพิสูจน์ฝ่ายทันที ซึ่งการพิสูจน์ฝ่ายจะมีหลายวิธีคือ
1. การพิสูจน์ฝ่ายด้วยสายตา ถ้าสามารถเห็นอากาศยานได้ด้วยสายตา โดยสังเกตุทั้งสีหรือเครื่องหมายอากาศยาน รูปร่างลักษณะ และท่าทางการบิน
2. การพิสูจน์ฝ่ายด้วยแผนการและการควบุคมการใช้ห้วงอากาศ ด้วยการตรวจสอบการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริง เปรียบเทียบกับแผนการบินของทั้งฝ่ายเราและเครื่องบินอื่นในน่านฟ้า
3. การพิสูจน์ฝ่ายด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการถามตอบด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
ระบบพิสูจน์ฝ่ายด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์นั้นจะเป็นระบบถาม (#Interrogator) และตอบ (#Transponder) คล้าย ๆ คนเราคุยกันว่าคุณเป็นใครแล้วฉันเป็นใครนั่นเอง โดยมาตรฐานของการบินของโลกนี้จะกำหนด Mode ของการถามตอบสำหรับเครื่องบินทหารและพลเรือนเอาไว้อย่างชัดเจน และเครื่องบินทุกลำต้องติดตั้ง
เราจะป้องกันภัยทางอากาศกันตรงไหน เพราะถ้าเครื่องบินมาถึงชายแดนแล้ว เราก็อาจส่งเครื่องบินมาไม่ทัน?
ใช่เลยครับ เพราะเครื่องบินบินได้เร็ว ดังนั้นถ้าเราพิสูจน์ฝ่ายแล้วว่าไม่ใช่เครื่องบินของฝ่ายเราแต่เป็นเครื่องบินของข้าศึก เราไม่สามารถรอให้เครื่องบินมาถึงชายแดนก่อนจึงจะส่งเครื่องบินไปสกัดได้ เราต้องกำหนดระยะว่า ถ้าเข้ามาใกล้เท่าไหร่ จะทำอะไร
เราเรียกเขตที่กำหนดนี้ว่า เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone: #ADIZ) ครับ ซึ่งมีแบ่งเป็นสามระยะเมื่อวัดจากชายแดน ดังนี้
1. เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศล่วงหน้า เกิดขึ้นเนื่องจากอากาศยานมีความเร็วในการเดินทางค่อนข้างมาก การรอให้อากาศยานเข้าสู่เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของประเทศหรือชายแดนจะทำให้ไม่ทันการในการตอบโต้ จึงมีการกำหนดเขตล่วงหน้าออกไปจากแนวชายแดนอีกสองเขตคือ
1.1 เขตใน หรือ Midnight Zone มักจะกำหนดให้เป็นเขต 0-50 ไมล์ทะเลจากแนวชายแดน
1.2 เขตนอก หรือ Twilight Zone มักจะกำหนดให้เป็นเขตที่ต่อจากเขตในอีก 50 ไมล์ทะเล
2. เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของประเทศ โดยส่วนมากจะกำหนดให้อยู่บนแนวชายแดนของแต่ละประเทศ
ดังนั้นเขต ADIZ จะเรียงกันแบบนี้คือ Twilight Zone (100 ไมล์ทะเลจากชายแดน) > Midnight Zone (50 ไมล์ทะเลจากชายแดน) > . เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของประเทศ (ที่แนวชายแดน)
แล้วเครื่องบินเข้ามาในเขตไหน เราต้องทำอย่างไร?
แน่นอน ไม่ใช่เจอเครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามแล้วเราจะส่งเครื่องบินไปยิงตกทันที แต่การจะต้องมีมาตรการจากเบาไปหนักเสมอครับ คือ
1. โดยปกติแล้ว เมื่ออากาศยานที่ไม่สามาถระบุฝ่ายได้เข้ามาในเขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศล่วงหน้า เราก็จะต้องพยายามใช้การพิสูจน์ฝ่ายตามวิธีการปกติในการตรวจสอบว่าเป็นอากาศยานของฝ่ายใด
2. แต่ถ้าอากาศยานที่ไม่สามารถระบุฝ่ายได้ยังเข้ามายังเขตพิสูจน์ฝ่ายของประเทศ ก็จะต้องดำเนินการป้องกันภัยทางอากาศ
3. อาจเริ่มต้นด้วยการกำหนดให้เป้าหมายนั้นเป็นเป้าหมายที่ติดตาม
4. ถ้าอากาศยานยังมุ่งหน้าเข้ามายังชายแดนของประเทศ อาจจะใช้การวิทยุไปแจ้งเตือนหรือสอบถาม
5. ถ้ายังมุ่งหน้าเขามาอยู่ อาจสั่งการให้เครื่องบินเตรียมพร้อมหรือ QRA ขึ้นบินสกัดกั้นทันที
6. การบินสกัดกั้นมักจะทำก่อนที่จะเข้ามาในเขตชายแดน แต่ไม่ได้จำกัดตายตัวว่าเมื่อเข้าเขตไหนจึงจะส่งเครื่องบินขึ้น ตรงนี้แล้วแต่สถานการณ์ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อฝ่ายตรงข้ามเข้ามาในเขต Midnight ก็มักจะมีคำสั่งให้เครื่องบิน QRA ขึ้นบิน เพื่อต้องอาศัยเวลาในการติดเครื่อง บินขึ้น และเดินทางไปถึงตำแหน่งเป้าหมาย
7. เมื่อเจอกับเป้าหมายแล้ว ก็ใช้ว่าจะต้องยิงตกทันที อาจจะแค่แจ้งเตือนว่า คุณกำลังเข้ามาในเขต ADIZ ของเรา ขอให้ออกไป หรือบินประกอบไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะออกจากเขต ADIZ ของเรา
8. ยกเว้นว่าในกรณีที่หาได้ยากคือ เครื่องบินฝ่ายตรงข้ามไม่ตอบสนองอะไร และมีท่าทีคุกคาม ก็อาจจะมีการใช้อาวุธได้
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เครื่องบินที่ถูกรุกล้ำน่านฟ้าต้องถูกยิงตกเสมอไป แต่จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักสากลครับ
เครื่องบิน QRA คืออะไร?
QRA ย่อมาจาก Quick Reaction Alert ซึ่งเป็นเครื่องบินเตรียมพร้อมสูงสุดที่สามารถบินขึ้นได้ภายในเวลา 5 – 10 นาทีเท่านั้น โดยจะวางกำลังตามฐานบินต่าง ๆ ครับ
อาจจะมีหลายท่านเข้าใจผิด แต่ภารกิจ QRA นี้เป็นภารกิจที่จะต้องทำทั้งในยามสงบและยามสงครามครับ และจะต้องทำทุกวินาที หมายถึงจะต้องทำ 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน ตลอด 365 วัน จะต้องมีเครื่องบินเตรียมพร้อมเสมอ
ถ้าในยามสงครามก็ชัดเจน เพราะอาจจะมีเครื่องบินข้าศึกบุกมาก็ได้ แต่ในยามปกติ มีหลายกรณีที่ต้องใช้เครื่อง QRA เช่น กรณีเครื่องบินพลเรือนบินต่ำเกินไปหรือบินในที่ห้ามบิน หรือเครื่องบินบินนอกแผนการบิน ก็จะต้องมีเครื่องบิน QRA ขึ้นไปบินประกอบเพื่อรับมือกับปัญหา ซึ่งส่วนมากเครื่องบินพลเรือนก็จะปฏิบัติตามครับ
จะมีบางกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม และนักบิน QRA ไม่รู้จะทำอย่างไรจริง ๆ เช่นในกรณีของเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐส่ง F-16 ขึ้นไปสกัดกั้นเครื่องบินโดยสารที่กำลังจะบินชนตึก World Trade Center แล้ว แต่นักบินไม่ฟังคำตอบ และนักบินก็ไม่สามารถยิงเครื่องบินให้ตกได้เพราะยังไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์ก่อการร้าย และถ้ายิงตกก็จะตกลงกลางเมือง ซึ่งสุดท้ายนักบินที่ไม่ตอบสนองอะไรก็ขับเครื่องบินชนตึกในที่สุด
ในหลายประเทศจะมีการเปิดเผยจำนวนครั้งของการทำภารกิจ QRA ต่อปี เพื่อแสดงให้สาธารณชนเห็นว่ากองทัพอากาศมีการปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ครับ
ในสถานการณ์จริง มีภารกิจการสกัดกั้นหรือไม่?
มีอยู่ทุกวันครับ ที่เราจะคุ้นเคยกันดีก็คือที่ไต้หวันซึ่งส่งเครื่องบินขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินของจีนวันละเป็นสิบลำทุกวัน เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ต้องทำ
ในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะตอนนี้ มีการทำภารกิจ QRA ค่อนข้างบ่อย คือในยามปกติ ยุโรปมีเครื่องบินพลเรือนเยอะ ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์เครื่องบินละเมิดกฎการบินอยู่บ่อย ๆ หรือถ้ามีการโทรขู่วางระเบิดเที่ยวบินไหน ก็จะมีการส่งเครื่องบินขึ้นไปประกบอยู่ตลอด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นครับ
หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความรู้นำใช้ในการติดตามข่าวสารกรณี MiG-29 ของพม่าบินล้ำแดนไทยกันครับ