28 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก “คาร์ซีท” (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้า ตามร่างประกาศกระทรวงการคลัง ลดอัตราอากร และยกเว้นศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
กระทรวงการคลัง ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยประมาณการจากมูลค่า อากรขาเข้าที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2562 -2565 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณ 555,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียรายได้ อาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนด้านความปลอดภัยในชีวิต และร่างกายของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และการปฏิบัติตามกฎหมาย
สาระสำคัญ ร่างประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดยกเว้นอากร สำหรับ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้ามาโดยให้ยกเว้นอากรถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จึงให้จัดเก็บอัตราอากรร้อยละ 20 ตามเดิม
ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน สนับสนุนด้านความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 65
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท ส่วนใหญ่ เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจำนวนน้อย เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศที่ผ่านมามีจำนวนไม่มากพอ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุน ฃ
อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสนับสนุนการลดราคาให้กับผู้บริโภค ประกอบกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก อาจสนใจที่จะลงทุนผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น