2 มิถุนายน 2565 น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านบาท ว่า ขณะที่เรากำลังพิจารณาร่างงบนี้ ท่ามกลางความผันผวนของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและความท้าทายปัญหาที่โลกกำลังเจอคือจะใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ต้องยอมรับว่า วิกฤตโควิด19 ทำให้ภูมิทัศน์และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ ยุคของ gig economy โดยหนึ่งในนโยบายช่วงหลังที่มีการพูดถึงบ่อยครั้งจนติดปากคือ Soft Power เข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญ เรามียุทธศาสตร์และเป้าหมาย แผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้เกิดการแข่งขันขึ้นจริง
หลังจากที่ได้ศึกษางบปี 66 ตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของภาครัฐแบบต่างกระทรวง ต่างคนต่างทำ การใช้งบกระจัดกระจาย ไม่มีแผนการทำงานที่ชัดเจนว่าเรากำลังจะทำอะไร ทำอย่างไร และทำเพื่ออะไร จึงขอนำเสนอภาครัฐให้พิจารณาทบทวนการใช้งบประมาณ ในการสร้างเศรษฐกิจด้วย Soft Power โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ
1 .เราต้องทำความเข้าใจคำว่า "Soft Power"ให้ถูกต้องตรงกันก่อน เพราะหากเข้าใจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน เราจะจัดแผนนโยบาย และกำหนดวางยุทธศาสตร์ เป้าหมายคลาดเคลื่อนไปด้วย ซึ่ง Soft Power แปลตรงตัวหมายถึง "อำนาจละมุนละม่อม" ในการที่จะส่งอิทธิพล หากจะสร้าง Soft Power ขึ้นมาใหม่ ก็อาจจะพูดได้ว่า "ตัวแทนของสื่อ หรือกระบวนการสื่อสารที่สามารถส่งอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติอื่น" ซึ่งหนึ่งในอาวุธสำคัญที่จะผลักดัน Soft Power ของคนไทยเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้กลายเป็นสินค้านำส่งสายตาคนทั่วโลก หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ ศิลปะ และบันเทิงที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและหลากหลายที่สุด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทุกประเทศใช้ความสำคัญในการสร้างตลาดให้กับตนเอง
ทั้งนี้ขอยกตัวอย่าง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเรามีประเด็นโด่งดัง คือกรณีนักร้องหญิง "มิลลิ" กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella การกินครั้งเดียวได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ Soft Power ให้กับคนไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ คนที่ได้อานิสงส์คือ กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง ชาวนาที่ปลูกข้าว หรือร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง หากเรามีแบบนี้ 10 คน 50 คน ไปพูดถึงสินค้าต่างๆ อัตลักษณ์ของประเทศ เหมือนที่วันนี้เราซื้อเหล้าโซจูในร้านสะดวกซื้อ เพราะตัวละครในซีรีส์เกาหลีทุกเรื่องต้องดื่มโซจู หรือร้านอาหารเกาหลี บะหมี่กึ่งสำเร็จ เมนูยอดฮิตของคนไทยก็ถูดตีตลาดด้วยรามยอน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจะผลักดัน Soft Power ไทยให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จุดเริ่มต้นสำคัญคือ รัฐต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับสื่อ ศิลปะและบันเทิงให้มีความเข้มแข็งเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการสร้างสรรค์ผลงานที่ต้องใช้ความชำนาญ พรสวรรค์เฉพาะด้าน เช่น การสร้างนักร้องศิลปิน การสร้างงานเพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะขาดต้นทุนทางด้านบุคลากร เงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงาน และขาดตลาดที่จะแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพ
2. การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อโฟกัสการทำงาน และ จัดทำแผนระยะยาวเพื่อไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ยกตัวอย่างการจัดตั้ง Korean Film Council หรือ Kofic พร้อมการจัดตั้งกองทุนของเกาหลี ซึ่งเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐ พร้อมกับกำหนดบทบาทความรับผิดชอบที่ชัดเจนไม่ให้เกิดความสับสน คือให้ Kofic ดูแลแผนงานและสนับสนุนเงินทุนให้เอกชนเพื่อนำไปสร้างผลงานคุณภาพ ให้อุตสาหกรรมนี้มีความเติบโตยิ่งขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อป้อนคนมีความรู้ความสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม
แต่อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ทุกวันนี้งบการเงินบริษัทเอกชน แค่ดูจากกราฟก็เห็นได้ว่ารายได้มีแนวโน้มลดต่ำลง และอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเพราะต้องต่อสู้กับวิกฤตดิจิทัลดิสรัปที่เกิดขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลงานของไทยอยู่ในลักษณะมูฟออนเป็นวงกลม คือย่ำอยู่กับที่ และเมื่อเราประกาศเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ก็ไม่มีหน่วยงานมารับผิดชอบที่ชัดเจน ที่ดูน่าจะเกี่ยวข้องที่สุดคือกระทรวงวัฒนธรรม แต่เท่าที่ดูงบประมาณก็เกิดคำถามว่างานที่เกิดขึ้นในกระทรวงนี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
3. การสนับสนุนเงินทุนที่จะสร้างเอกชนให้เข้มแข็งในการนำไปใช้พัฒนาคุณภาพงาน และพัฒนาบุคลากร จากที่ดูงบกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 6,747 ล้านบาท หากจำแนกแยกย่อยออกมาเป็นหน่วยงานภายในสังกัด เช่น กรมการศาสนา กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และรวมถึงกองทุนต่างๆ จะเห็นว่างบประมาณกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปใช้ในเชิงรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปะเดิมของประเทศ แต่งบประมาณที่จะนำใช้เพื่อต่อยอดในอนาคตกลับมีน้อยมาก โครงการทั้งหมดภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมมีเพียงโครงการเดียวที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power มากที่สุดคือ “โครงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม ภาพยนตร์และวีดิทัศน์” มีจำนวน 40 ล้านบาท เท่านั้น คงไม่ต้องพูดว่าภารกิจอันใหญ่หลวงความหวังของคนไทยในการปั้นเศรษฐกิจ และการสร้างสรรค์นี้ คงไม่ต้องพูดถึงความเหมาะสมว่างบแค่นี้จะทำสำเร็จได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าทุกวันนี้รัฐก็มีภาระใหญ่ในการดูแลประชาชน หลังจากวิกฤตโควิด การใช้งบต้องรอบคอบ แต่เรายังมีเงินกองทุนอยู่จำนวนมาก ที่นำมาพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมนี้ได้ คือ "งบกองทุนสื่อสร้างสรรค์" ที่ทุกวันนี้มีงบบประมาณเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ของ กสทช. ที่เอกชนส่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 2.5 ให้ กสทช.ทุกปี กองทุนนี้มีเงินทุน ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 64,376 ล้านบาท
โดยเงินจำนวนมากเหล่านี้ถูกเก็บไว้ไม่ได้นำออกมาใช้ในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อน และงบที่ขอเข้าไปในกองทุนนี้ยังถูกนำไปใช้อย่างกระจัดกระจาย จึงไม่สามารถเห็นผลที่ชัดเจนได้ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากเรานำเงินของกระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสื่อเหล่านี้ และงบจัดอีเวนท์ของกระทรวงต่างๆ มารวมกัน เราจะมีงบมากพอที่จะปักหลักยุทธศาสตร์เพื่อผลักดัน Soft Power ของไทยให้เสร็จได้
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์เรื่อง Soft Power ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาถึงการปรับแผนการทำงานเพื่อรองรับกับความผันผวนและความท้าทายโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในอีกหลายๆเรื่องเช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่สังคมชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันนวัตกรรม ปัญหาดิจิทัลดิสรัปชั่น และการมาถึงโลกเมตาเวิร์สที่เกิดขึ้นแล้ว และจะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราในอีกไม่ช้า แต่เรายังไม่มีแผนงานใดรับมือ
แม้วันนี้เราจะมีวิกฤตโควิด19 ให้ต้องแก้ไข รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลประชาชน แต่เมื่อเราพบว่ามีเงินมากเพียงพอ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ระยะยาวและมีแผนปฏิบัติจริง เปลี่ยนรัฐจากที่เป็นผู้ลงมือทำเอง มาเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนมีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและส่งต่อโอกาสในสังคมได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จเหมือนที่รัฐบาลตั้งใจไว้ได้อย่างแน่นอน