วันนี้ (22 พ.ค. 65 ) ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทะเลสาบสงขลา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จากการขับเคลื่อนและผลักดันหลายหน่วยงานทั้งจังหวัดสงขลา กรมปศุสัตว์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในการนำสินค้า “ไข่ครอบ” ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และความเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นของคนคาบสมุทรสทิงพระสู่การเป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดสงขลาในปี 2565 นั้น
นางสาวประไพ จินนะมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มเตรียมพัฒนาให้สินค้าไข่ครอบกลายเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดสงขลา เนื่องจากไข่ครอบเป็นสินค้าที่มีความพิเศษเนื่องจากเป็นภูมิปัญญาที่มีตั้งแต่อดีต แต่เดิมเป็นเพียงแค่การผลิตในยามว่างแต่ปัจจุบันการผลิตไข่ครอบไม่ได้เป็นเพียงแค่การถนอมอาหารเท่านั้นหากแต่ความพิเศษของไข่เป็ดที่มาจากเป็ดที่ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ อาหารที่กินก็จะเป็นเปลือกหอย หัวกุ้ง ทำให้ไข่แดงที่ได้จากไข่เป็ดที่เลี้ยงที่นี่จะมีสีส้มสด ไม่เหมือนไข่เป็นที่อื่น
นอกจากกระบวนการเลี้ยงเป็ดแล้วกระบวนการสร้างสรรค์ไข่ครอบก็ต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งแยกไข่แดง แช่น้ำเกลือ 3 ชั่วโมง และนำไข่แดง 2 ฟองมาใส่ในเปลือกไข่ เหมือนไข่แฝดที่เป็นรูปหัวใจ สุดท้ายก็นำไปนึ่ง “ไข่ครอบ” สูตรของสงขลาด้านนอกต้องสีแดงอมส้มส่วนด้านในไข่ต้องเยิ้ม รสชาติต้องเค็มนิดหน่อย
ประธานกลุ่มวิสาหกิจ เล่าต่ออีกว่า ตอนนี้ทางกลุ่มเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์แพ็คเกจ แปรรูปสินค้า เพื่อให้สามารถส่งไปต่างประเทศได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีลูกค้ามาสั่งแล้วนำสินค้าไปในต่างประเทศ ทั้งประเทศภูฎาน ประเทศสิงคโปร์ ก็ไปได้
หากประเทศปลายทางอากาศหนาว แต่หากเป็นประเทศเขตร้อนก็อาจจะต้องมีการพัฒนาแพ็คเกจและกระบวนการอีกซึ่งเราวางแผนไว้ว่าสินค้าไข่ครอบจะต้องวางอยู่บนห้างทั้งในและต่างประเทศให้ได้ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีวางขายภายในสนามบินหาดใหญ่ ตลาดเกษตร ม.อ. และสามารถสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์จัดส่งผ่านขนส่งห้องเย็นทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม จังหวัดสงขลามีสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้า GI แล้ว จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ส้มโอหอมควนลัง และส้มจุกจะนะ และตั้งเป้าปีใน 2565 ดันปลากะพงสามน้ำทะเลสาบ และผลิตภัณฑ์ไข่ครอบ สู่การเป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดสงขลาให้ได้