พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่ง ถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี
ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
สิ่งสำคัญของพระราชพิธีนี้คือ คำทำนายจากพระโคแรกนาขวัญในพระราชพิธี เพื่อทำนายถึงผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละปี โดยพระโคจะถูกคัดเลือกโดยสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โดยเลือกจากโคที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีคำเสี่ยงทายเรื่องปริมาณน้ำฝน ที่เสี่ยงทายจากผืนผ้าของพระยาแรกนาด้วย
สำหรับคำทำนายจาก "พระโค" ในวันพืชมงคลปี 2565
สำหรับการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง พระยาแรกนาทำการเสี่ยงทายผ้าไปประกอบพิธีได้ผลดังนี้ เลือกผ้า 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มจะเสียหายบ้าง
สำหรับการทำนายเรื่องพืชพันธุ์ธัญญาหาร จะเสี่ยงทายจากอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงพระโค ซึ่งมีด้วยกัน 7 อย่างคือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา หญ้า น้ำ และเหล้า พระโคกินอะไรก็จะทำนายไปตามนั้น ได้แก่ โดยในปีนี้ “พระโค” เลือกกิน 4 อย่างได้แก่
พระโคเลือกกิน "น้ำ" และ "หญ้า" พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
พระโคเลือกกิน "ถั่วเขียว" พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
พระโคเลือกกิน "เหล้า" พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง