โดยหนึ่งในแผนที่วางไว้ และทำสำเร็จแล้วก็ คือ การไม่ยอมให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ "เบอร์เดียวกัน"
งานนี้ต้องถือว่า "พลิกล็อก" พอสมควร เพราะก่อนประชุมกมธ.กฎหมายลูกเลือกตั้ง หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าผลจะออกมาเป็น "บัตร 2 ใบ เบอร์เดียวกัน" เพราะแกนนำหลายพรรคการเมืองออกมาสนับสนุน แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีคนของพรรคเป็นประธาน กมธ.เอง
เหตุผลที่นำมาเชียร์ก็สวยหรู
-ต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง
-ประชาชนจำง่าย เลือกง่าย แต่ก็ยังมีสิทธิ์เลือกต่างกันได้
-ทำให้บัตรเสียลดลง
-อำนวยความสะดวกให้ประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากซึ่งเป็นผู้สูงวัย
-ลดความสับสนในการรณรงค์หาเสียง
แต่เมื่อเริ่มประชุม กมธ.จริงๆ ก็มีการงัดข้อมูลมาโต้กัน ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับ "บัตร 2 ใบ เบอร์เดียวกัน" ก็ยกเหตุผลขึ้นมาอธิบาย เช่น
-เปิดช่องให้ซื้อเสียงได้ง่าย
-ถ้าใช้เบอร์เดียวกัน บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะสับสน เพราะจำนวนผู้สมัครแต่ละเขตไม่เท่ากัน เนื่องจากบางพรรคส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ฉะนั้นเบอร์บางเบอร์ ในบางเขต จะกลายเป็นเบอร์ว่าง ถ้าไปลงคะแนน หรือกาหมายเลขนั้น ก็จะกลายเป็นบัตรเสีย
-รัฐธรรมนูญ มาตรา 90 เขียนชัด "พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้” แปลว่าต้องสมัครแบบเขตก่อน จึงจะสมัครปาร์ตี้ลิสต์ ฉะนั้นใช้เบอร์เดียวกันไม่ได้
สุดท้ายฝ่าย "บัตร 2 ใบคนละเบอร์" ชนะไปด้วยเสียงขาดลอยพอสมควร คือ 32 ต่อ 14 และงดออกเสียง 1
แน่นอนว่า เหตุผลที่ซ่อนอยู่ของการค้าน "บัตร 2 ใบเบอร์เดียวกัน" ก็คือป้องกันการชนะแบบ "แลนด์สไลด์" ของเพื่อไทย ทีมยุทธศาสตร์ของพรรควิเคราะห์ว่า ถ้าบัตร 2 ใบ ใช้คนละเบอร์ จะส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้งของพรรค สูงสุดถึง 20% (กรณี worst case scenario)
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 54 ที่ใช้ "บัตร 2 ใบ เบอร์เดียวกัน" จับเบอร์พรรคก่อน ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์มาแล้ว และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาเสียงเพียง 49 วัน ก็เป็นนายกฯ ทำให้หลายคนกลัวว่า เหตุการณ์คล้ายๆ กันจะกลับมาเกิดกับ "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร"
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการเลือกตั้งแบบ "บัตร 2 ใบ คนละเบอร์" ว่า จะมีผลต่อพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียงจะยากขึ้น แต่จริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทยก็แข่งทั้ง 2 ส่วน ผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีกลไกระดับพื้นที่ที่ต้องแข่งกัน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ หรือบัญชีรายชื่อพรรค เป็นแบรนด์เสริม
ส่วนพรรคที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ก้าวไกล เพราะกระแสพรรคเด่น แต่ตัวบุคคลในแบบแบ่งเขตยังเป็นรอง เนื่องจากเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ พื้นที่อาจยังไม่แข็งเท่าพรรคการเมืองเก่าแก่ สะท้อนได้ชัดสมัยตอนพรรคอนาคตใหม่ที่ได้คะแนนมาจากกระแสพรรคล้วนๆ
สำหรับพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลก็เจอผลกระทบอยู่บ้าง เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมถึงพลังประชารัฐ ยกตัวอย่าง ประชาธิปัตย์ สร้างมาบนฐานที่มีทั้งตัวบุคคลและแบรนด์พรรคที่ยังโดดเด่นในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้น คนละเบอร์ก็ยังพอไปได้ แต่อาจต้องทำงานมากขึ้น
สรุปง่ายๆ คือ บัตร 2 ใบคนละเบอร์ มีผลกระทบ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมาก คือพรรคก้าวไกล / ระดับกลาง พรรคเพื่อไทย / และระดับเล็กน้อย คือ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดร.สติธร มองว่า ส่งผลเป็น "งูกินหาง" กล่าวคือ
-พรรคเพื่อไทยเจอสองบัตรคนละเบอร์ พลังประชารัฐคิดว่าได้เปรียบ เพราะแข่งกับเพื่อไทย
-แต่อีกมุม เป็นอานิสงส์ให้เพื่อไทยแข่งกับก้าวไกลได้ง่ายขึ้น สามารถชิงคะแนนกลับมาได้ง่าย
-สุดท้ายที่ชัดเจน คือ เพื่อไทยไม่ได้แลนดสไลด์ค่อนข้างแน่ แต่ก้าวไกลโดนผลกระทบหนักที่สุด