svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันปิดไฟเพื่อโลก ขอเชิญพร้อมใจรักษ์โลก ปิดไฟพร้อมกัน 1 ชั่วโมง ในคืนนี้

"วันปิดไฟเพื่อโลก" สำหรับในปีนี้ตรงกับ 26 มีนาคม 65 ไปดูจุดเริ่มต้น และเหตุผลสำคัญของการประหยัดพลังงานไฟฟ้า รวมถึงอัปเดตการขับเคลื่อนเรื่องประหยัดพลังงานในไทย ปีนี้เป็นอย่างไร?

“วันปิดไฟเพื่อโลก” (Earth Hour)

สำหรับในปีนี้ ตรงกับวันเสร์ที่ 26 มีนาคม 2565 คือวันนี้นั่นเอง

ซึ่งเป็นวันเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนทั่วโลกได้ตระหนักถึง “ภาวะโลกร้อน”

 

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่พบว่าอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากจากการกระทำของมนุษย์

ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ชวนแฟนข่าวไปติดตามสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ “วันปิดไฟเพื่อโลก” ว่ามีความสำคัญอย่างไร และสถานการณ์การรณรงค์ในประเด็นนี้ในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

วันปิดไฟเพื่อโลก ขอเชิญพร้อมใจรักษ์โลก ปิดไฟพร้อมกัน 1 ชั่วโมง ในคืนนี้

1. ต้นกำเนิดวันปิดไฟเพื่อโลก

จุดเริ่มต้นของ “วันปิดไฟเพื่อโลก” (Earth Hour) เกิดจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศออสเตรเลีย ได้คิดโครงการนี้ขึ้นในช่วงปี 2550 ซึ่งขอความร่วมมือให้หน่วยงานหลายภาคส่วน เช่น อาคาร ร้านค้า และบ้านเรือนทั่วไป ช่วยกันปิดไฟ ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมงใน 1 วัน

 

2. ทำไมต้องเป็นเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม?

เหตุผลสำคัญที่ต้องรณรงค์แคมเปญนี้ในช่วง “วันเสาร์ของสัปดาห์สุดท้ายเดือนมีนาคม” ก็เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อยู่ตรงกลางระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของโลก ซึ่งพระอาทิตย์จะตกใกล้กันทั้งสองฝั่งโลก นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรณรงค์ "งดใช้พลังงาน"

 

3. ทำไมโลโก้โครงการต้องมี “60+” และ “Earth Hour”

สำหรับโลโก้ของโครงการนี้ ในส่วนของตัวเลข “60+” จะสื่อถึงเวลา 60 นาที ที่ทุกคนช่วยกันลดการใช้พลังงาน ซึ่งเพิ่มชั่วโมงชีวิตให้กับโลกใบนี้ จึงกลายเป็นที่มาของคำภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “Earth Hour” ด้วย

4. เหตุผลสำคัญของการรณรงค์เรื่องนี้

ในอนาคตปัญหาภาวะโลกร้อนอาจแย่ลงไปอีก การที่ประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนสิ่งนี้ จึงมีส่วนช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้

ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งพลังในการส่งเสริมเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง เช่น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก ใช้บริการขนส่งสาธารณะ หันมาเดิน-ขี่จักรยานมากขึ้น หรือไม่สร้างขยะเพิ่มในชีวิตประจำวัน 

 

5. ผลลัพธ์กิจกรรม "รณรงค์ปิดไฟ" ของไทยเป็นอย่างไร?

ผู้ว่าฯ กทม. ให้ข้อมูลไว้ว่า การจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง ทุกปีต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปี (ตั้งแต่ปี 2551 - 2565) ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 22,398 เมกะวัตต์ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12,235.40 ตัน คิดเป็นค่าไฟมูลค่ากว่า 80.90 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ จาก สถิติโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2561 การรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมงวันเดียว สามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,026 ตัน หรือลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 7.8 ล้านบาท 

 

6. ปี 2565 นี้ ไทยรณรงค์อย่างไร ใครเข้าร่วมกิจกรรม?

การรณรงค์กิจกรรมปิดไฟของทางองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทย ร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร จัดต่อเนื่องมา 14 ปีแล้ว (นับตั้งแต่ปี 2551) โดยปีนี้ยังคงจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง” ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 20.30 - 21.30 น.

ทั้งนี้ยังมีองค์กรทั้งภาครัฐ-เอกชน ถนนอีกหลายร้อยสาย และ 5 แลนด์มาร์กหลักใจกลางกรุงเทพฯ ที่ร่วมกิจกรรม ดังนี้ วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม), วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, สะพานพระราม 8 และเสาชิงช้า

หากห้างร้าน บริษัท ผู้ประกอบการร้านค้า และสถานที่ต่างๆ สนใจเข้าร่วมการรณรงค์โครงการนี้ สามารถร่วมปิดไฟประดับ ปิดไฟอาคาร ปิดป้ายโฆษณา รวมถึงถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานได้ในวันดังกล่าวนี้ด้วย  

 

 

วันปิดไฟเพื่อโลก ขอเชิญพร้อมใจรักษ์โลก ปิดไฟพร้อมกัน 1 ชั่วโมง ในคืนนี้

ที่มาข้อมูลอ้างอิงข้อมูลจาก : อวพซ.WWF-ThailandEarth Hour