จากกรณีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที ได้ทำกิจกรรมเชิญธงชาติลงจากยอดเสา หน้าอาคารสิริคุณากร ตึกอธิการบดีหลังเก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนนำธงสีแดงเขียนข้อความว่า ปฏิรูปกษัตริย์ ชักขึ้นยอดเสา พร้อมเพจ ขอนแก่นพอกันทีได้ถ่ายทอดสด จากนั้น จึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปอดภัย ได้นำธงลงจากยอดเสา ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ราย คือนายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นายชัยธวัช รามมะเริง และนายเชษฐา กลิ่นดี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย, ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร และร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53 (3) และ 54 ก่อนพนักงานอัยการจะสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 64
25 มีนาคม 2565 ที่ศาลแขวงจังหวัดขอนแก่น นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ราย คือนายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นายชัยธวัช รามมะเริง และนายเชษฐา กลิ่นดี พร้อมด้วยนายพัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความ เครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาศาลแขวงขอนแก่น เพื่อฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นธงชาติ นายพัฒนะ กล่าวว่า คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้อง 3 ข้อหา โดยศาลแขวงขอนแก่น มีคำพิพากษาตัดสิน 2 ข้อหา คือ คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ธงฯ ม.45,53(3) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตาม ม.45 ซึ่งโทษหนักที่สุด โดยพฤติการณ์ประกอบกับจำเลยยังเป็นนักศึกษา ไม่เคยมีโทษ โดยศาลแขวงขอนแก่นรอการกำหนดโทษ 2 ปี
“ศาลแขวงขอนแก่นได้พิพากษารอกำหนดโทษ โดยระบุว่าการกระทำของนักศึกษาถือเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ การชักธงของสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นการชักธงที่ไม่เหมาะสม ส่วนข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามธงศาลไม่ตัดสินว่าผิด ส่วนโทษรอการกำหนดโทษไว้ คือถือว่ามีความผิด แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงโทษจำเลยอย่างไร ให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวกลับใจเป็นพลเมืองดี หลังจากนี้หากนักศึกษาทั้ง 3 คน มีความเห็นร่วมกันว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้อง สามารถจะอุทธรณ์ได้ ต้องดูแนวทางกันก่อน ซึ่งดูจากอัตราโทษก็ถือว่าไม่ใช่คดีร้ายแรง สำหรับการที่ศาลตัดสินให้รอการกำหนดโทษไว้ เห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว”นายพัฒนะ กล่าว
นอกจากนี้ก่อนที่ทั้งหมดจะขึ้นศาล นายพัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาสังเกตการณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีลักษณะการถ่ายภาพที่เจาะจงเป็นรายบุคคล ต่างจากทุกครั้งที่เข้ามาสังเกตการณ์ จึงพยายามเข้าไปพูดคุยเพื่อสอบถาม และขอให้ลบภาพถ่าย แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้เดินหนีออกจากศาล โดยทางทนายเห็นว่าต้องปกป้องสิทธิของลูกความจึงได้ดำเนินการร้องเรียนผู้อำนวยการศาลเพื่อให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ข่าวโดย-กวินทรา ใจซื่อ