จากกรณี คดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ รับฟ้อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อปี 2547 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และ เป็น เจ้าพนักงานกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ โดยมี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เป็นโจทก์ ภายหลังศาลฎีกา ยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิม กับพวก ในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี
วันที่ 15 มีนาคม 2565 นายนวรัฐ เผือดโพธิ์ ทนายความ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ชี้แจงกรณีศาลอุทธรณ์สั่งกลับให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯรับฟ้องข้อหาเพิ่ม พ.ต.อ.ทวี กับพวก ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กลั่นแกล้งให้ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม กับพวก คดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี่
ขณะนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นยังเป็นกระบวนการที่ศาลรับฟ้องไว้พิจารณาเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิด และเป็นกรณีที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ศาลจึงได้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง ที่ฝ่ายโจทก์เป็นผู้นำพยานเข้าไต่สวนต่อศาล
โดยตนความมั่นใจ ว่า การทำงานของ พ.ต.อ.ทวี กับพวก ในการสอบสวนทำสำนวนคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของกฎหมาย และไม่มีประเด็นกลั่นแกล้ง ตามที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พยายามยกมากล่าวอ้างจากคำพิพากษาในคดีก่อนหน้า
เนื่องจาก ในทุกคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับมา จะเป็นคดีที่มีความพิเศษ โดยการสอบปากคำผู้ต้องหา บันทึกคำให้การพยาน จะมีพนักงานสอบสวนหลายคน รูปแบบคณะทำงาน อีกทั้งยังมีพนักงานอัยการ เข้าร่วมดำเนินการด้วย ฉะนั้น ในสำนวนคดีจะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งกำหนดทิศทางได้
ตนทราบว่า ฝ่ายโจทก์เพิ่งนำพยานเข้าไต่สวนมูลฟ้อง โดยนำประเด็นการยกฟ้อง มากล่าวอ้าง พฤติการณ์ส่อว่าจูงใจต่อรองให้พยานกลับคำให้การ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง การยกฟ้องในคดีก่อนหน้า ก็เนื่องจากพยานหลักฐานเอาผิดกับจำเลยไม่ได้เท่านั้น ทำให้การสืบพยานครั้งต่อไป ในวันที่ 6 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 น. ทีมทนายได้เตรียมหลักฐานที่จะแสดงการทำงานของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับพวก เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถกลั่นแกล้งใครได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีข่าวลือสร้างความสับสนว่า พ.ต.อ.ทวี ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะคดีเพิ่งอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้อง และคดีเป็นคดีอาญาทั่วไป ไม่ใช่คดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง และไม่ใช่ฐานความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงไม่มีบทบัญญัติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่