svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กว่าเป็น"สนามบินเบตง"เผชิญหลากมรสุม เที่ยวบินพิศวง ต้อนรับนายกฯ"ลุงตู่" 

14 มีนาคม ฤกษ์งามยามดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา แต่กว่ามาถึงวันนี้ "สนามบินเบตง" ต้องเผชิญกับปมคำถามชวนฉงนถึงความพร้อมที่ต้องการคำตอบให้ชัดเจน

 

14  มีนาคม 2565 ถือเป็นฤกษ์สำคัญอย่างเป็นทางการ  เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเดินทางไปเป็นประธานเปิด "เที่ยวบินปฐมฤกษ์" ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา"

 

"เที่ยวบินปฐมฤกษ์" ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา"

 

สำหรับท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ภายใต้กรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 60 แล้วเสร็จเมื่อปี 62 หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จได้มีการเผยแพร่ภาพท่าอากาศยานแห่งใหม่ออกทางโลกโซเชียลจนมีเสียงตอบรับชื่นชมถึงความสวยงามในการออกแบบ แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกไปเริ่มมีผู้เชี่ยวชาญทางการบิน รวมถึงส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตชนิดเจาะลึกไปถึงเส้นทางการขึ้นลง ต้องบินวนล้ำน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้านก่อนหรือไม่

 

แม้กระทั่งคำถามว่า เหตุใดการเปิดสนามบินที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกเป็นเวลาข้ามวันข้ามปี ก่อนมาได้ฤกษ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มี.ค.นี้ มาจากความไม่พร้อมอะไรกันแน่  

 

หากไล่เลียงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ได้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำโดยนายภาณุ  อุทัยรัตน์   และอดีตข้าราชการในพื้นที่ ทดลองเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่สนามบินเบตงมาแล้ว ช่วงปลายเดือน มกราคม 65  จนเกิดประเด็นดราม่า  เพราะส่วนราชการในจังหวัดยะลาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีการระบุว่ายังไม่อนุญาตให้ทำการบิน 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

ต่อมา วันที่  5 ก.พ.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ได้โดยสารเที่ยวบินไปลงที่เบตงแล้วเช่นกัน เพื่อตรวจความพร้อมในการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงอย่างเป็นทางการ

 

ข้อสังเกตอย่างหลากหลายจึงเกิดขึ้นดังนี้  

 

1. สนามบินเบตง  มีรันเวย์ความยาว 1,800 เมตร ไม่สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ รองรับได้แค่เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก 

 

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา

 

2. สนามบินเบตง ยังไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเติมเครื่องบิน ทำให้เกิดคำถามอีกว่า กรณีเที่ยวบิน กรุงเทพฯ- เบตง หากใช้ได้แค่อากาศยานขนาดเล็ก เครื่องจะไม่สามารถบินไปกลับได้ทันทีเพราะต้องแวะเติมน้ำมันที่สนามบินอื่น

 

ส่งผลให้ต้องมีการสร้างรันเวย์เพิ่มเติมเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาจต้องเสียงบประมาณเพิ่มการขยายความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) จากปัจจุบัน 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้
 

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา

 

นอกจากนี้จะต้องขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางรันเวย์ทั้งทิศตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 240 เมตรตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งขยายทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากความกว้าง 18 เมตรเป็น 23 เมตร และขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิมที่มีขนาด 94X180 เมตร เป็นขนาด 94X240 เมตร เพื่อทำให้ท่าอากาศยานเบตง สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งได้ 3 ลำ

 

ขณะนั้น นางดวงพร สุวรรณมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง เผยว่า ทางกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ชี้แจงกรณีมีประเด็นบิดเบือนของท่าอากาศยานเบตงตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงกรณีการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงที่มีข้อติดขัดไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้น กรมฯขอชี้แจงข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

 

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา

 

กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการดำเนินการก่อสร้างกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์ จึงได้ข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้คือ ทางวิ่ง(Runway) ขนาด 30x 1,800 เมตรสามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ซึ่งตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่างๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชน

 

สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

 

ขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1.หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2.ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ในส่วนของการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานนั้น กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคต

 

กรมท่าอากาศยาน ขอเรียนให้ทราบว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในความต้องการพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึงต่อไป

 

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จ.ยะลา

 

ขณะเดียวกันมีรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ยังได้ให้ในส่วนของสายการบินที่จะมาเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานเบตงนั้น ทาง ทย. มีมาตรการให้การสนับสนุนสายการบินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าธรรมเนียมค่าขึ้นลงอากาศยาน 50% และยกเว้นค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน

 

ส่วนเรื่องเงื่อนไขการรับประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75% ตามที่ผู้ประกอบการสายการบินเสนอมา ได้เร่งรัดการเจรจาให้จบโดยเร็ว เพราะไม่อยากให้เปิดท่าอากาศยานแล้วหยุดให้บริการ และกลับมาเปิดให้บริการอีก ต้องการให้เปิดแล้วก็เปิดให้บริการยาวต่อเนื่องเลย ไม่อยากให้เกิดปัญหาท่าอากาศยานร้าง

 

กว่าเป็นสนามบินเบตง เริ่มในยุครัฐบาลคสช. 

 

เช่นเดียวกับ นายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลไว้เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา  ระบุว่า  "สนามบินเบตง" จังหวัดยะลา เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2561) 

 

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้ อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี

 

"ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR 70-80 ที่นั่ง สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน"  ธนกร กล่าว 

 

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงแห่งนี้ ถือเป็นอีกความพยายามจนเห็นผลในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ชายแดนใต้มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการมีท่าอากาศยานในพื้นที่จะช่วยรองรับภาคการท่องเที่ยว การพาณิชย์ การลงทุนต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคต อันจะส่งผลต่อความมั่นคงในพื้นที่ด้วย