10 มีนาคม 65 ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในรายการวันใหม่วาไรตี้ ผ่านสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส สื่อไทย บทบาทสำคัญที่มีผลต่อสังคม กรณีที่สื่อต่างๆพยายามเกาะติดข่าวกระแสสังคมคดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดังนั้น มองว่าอาจทำให้คำว่าพื้นที่หรือโอกาสที่ประชาชนควรรู้หรือต้องรู้หายไป กลายเป็นการมุ่งนำเสนอในสิ่งที่คนอยากรู้หรือการขายข่าวแทน ทำให้การทำหน้าที่สื่อ ต้องถูกตั้งคำถามตามมาเพราะการขายข่าวที่มากเกินไป ไม่คำนึงถึงความสมดุลหรือหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนได้ ที่ผ่านมามีหลายกรณีแล้วที่สื่อเองก็ใช้ความรู้สึกปะปนในข้อเท็จจริงของข่าวเป็นจำนวนมาก
"ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้ จนไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าระหว่างสื่อมวลชนกับสื่อทั่วไปแตกต่างกันอย่างไร ในอดีตการจะมาเป็นสื่อมวลชนได้ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ การมีประสบการณ์ความรู้ ใบประกอบอาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ แนวปฏิบัติที่ดีของสื่อ และอย่างน้อยที่สุดจะมีกติกากฎเกณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อถึงยุคที่ทุกคนเป็นสื่อ ใครอยากจะนำเสนออะไรก็ง่ายมาก โดยไม่มีกฎเกณฑ์กติกา อยากจะโพสต์หรือขุดคุ้ยอย่างไรก็ได้ ทำให้สังคมเต็มไปด้วยFAKE NEWS Head Speech และการ bully เต็มไปหมด ทำให้สื่อมวลชนเองต้องกลับมาตั้งหลักด้วยว่า การนำเสนอข่าวขณะนี้ได้อยู่ในกรอบของการนำเสนอข้อเท็จจริงของความเป็นสื่อมวลชนหรือไม่" ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว
ดร.ธนกร กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีทั้งข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นในข่าวเดียวกัน ซึ่งถึงเวลาควรจะทำให้ประชาชนได้เข้าใจชัดเจนระหว่างความเป็นสื่อทั่วไปกับสื่อมวลชน
ขณะเดียวกันในมุมของผู้รับชมก็ควรรู้เท่าทันสื่อ เพราะสื่อทุกวันนี้มักเล่นกับจริตความรู้สึกของผู้รับชม ดังนั้นประชาชนเองก็ต้องระมัดระวังหากเข้าใจว่าข้อมูลที่เป็นความรู้สึกกลายเป็นข้อเท็จจริง อาจกลายเป็นเหยื่อของข่าวได้โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันของสื่อที่สูง
โดยหลักการคือต้องไม่เชื่อข่าวๆนั้นก่อน และต้องสามารถตรวจสอบได้ก่อนจะเชื่อในข่าวนั้น
"การรู้เท่าทันสื่อที่ดี ขอให้ตระหนักว่าเราทุกคนเป็นผู้เปิดรับสื่อ ในแต่ละวันเราอยู่กับสื่อเป็นส่วนใหญ่ และข้อมูลข่าวสารที่วิ่งเข้ามาหามีทั้งบวกและลบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลบมากกว่าและแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างมากอยู่ที่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวดังนั้นถ้าเราต้องการปฏิเสธหรือยับยั้งสื่อที่ไม่ดีทั้งหลายเราก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาคัดกรองข่าวสารเตือนคนรอบข้างและลุกขึ้นมาทำสื่อเอง" ดร.ธนกร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เชื่อว่าทุกคนเป็นสื่อที่ดีได้ แค่ทำเรื่องดีๆที่ใกล้ตัวเป็นประโยชน์ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกองทุนมีกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คอยสนับสนุน ตั้งแต่การมีหลักสูตรอบรมและการให้ทุนเพื่อสนับสนุน พร้อมเชื่อว่าการสร้างระบบนิเวศของสื่อทุกคนทำได้และประชาชนทุกคนสามารถเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : รายการวันใหม่วาไรตี้/ไทยพีบีเอส