หลังจากที่ PayPal ธนาคารออนไลน์ แพลตฟอร์มรับ-ส่งเงินออนไลน์จากผู้ใช้ทั่วโลก ประกาศว่าจะระงับการโอนเงินระหว่างประเทศให้กับสมาชิกที่เป็นบุคคลหรือผู้ใช้งานทั่วไป หลังกลับมาให้บริการในประเทศไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 โดยจะเปิดโอกาศให้ใช้งานได้สำหรับนิติบุคคล หรือผู้ใช้งานเพื่อธุรกิจเท่านั้น จึงทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการทั่วไปได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายล่าสุด
อรุณี นุ่มเกตุ อายุ 37 ปี อาชีพขายเสื้อผ้าเด็กบนเว็บไซด์ เธอขายเสื้อผ้าเด็กผ่านเว็บไซด์ให้กับชาวต่างชาติมา 7-8 ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวอเมริกา จึงจำเป็นต้องใช้ PayPal ในการชำระสินค้า โอนเงินระหว่างกัน ซึ่งแต่ละเดือนเธอจะขายได้ราว ๆ 30,000-80,000 บาท
แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 PayPal ให้ผู้ใช้บริการยื่นทะเบียนพาณิชย์ โดยไม่ได้ระบุรูปแบบว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่ พร้อมบิลค่าน้ำค่าไฟ และรายละเอียดในการทำธุรกิจ โดยให้ยื่นเอกสารภายในวันที่ 18 ก.พ. 65 เธอก็ยื่นเอกสารไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้ว PayPal ก็ออกนโยบายใหม่เพิ่มผ่านทางอีเมลอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 65 ใจความสำคัญของข้อความระบุว่า "บัญชี PayPal จะถูกจำกัดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 65 เป็นต้นไป
โดยจะไม่สามารถโอนหรือรับเงินผ่านบัญชี PayPal ได้ อย่างไรก็ตาม ยังสามารถถอนเงินจากบัญชี PayPal ไปยังบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ได้ และจะยังสามารถชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต โดยไม่ต้องมีบัญชี PayPal แต่หากต้องการใช้บริการรับหรือชำระเงินต่อไป สามารถลงทะเบียนธุรกิจ (นิติบุคคล) กับทางกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย และจากนั้นให้เปิดบัญชีธุรกิจกับทาง PayPal ประเทศไทยใหม่อีกครั้ง"
อรุณี จึงมองว่าการลงทะเบียนธุรกิจ (นิติบุคคล) กับทางกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยจะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงอาจไม่ทันในวันที่ 7 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เธอจึงอยากร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนนโยบายนี้ เพราะไม่เพียงอรุณีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่มีอาชีพฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ทั่วประเทศหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่ได้รับผลกระทบกับนโยบายนี้ยังร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซด์ Change.org โดยตั้งแคมเปญ "ร่วมสนับสนุนให้ PayPal Thailand ปรับนโยบายรองรับผู้ใช้บัญชีธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดา" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงชื่อมากกว่า 2,500 คนแล้ว
และหลังจากนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจะเข้ายื่นหนังสือถึงการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน เพื่อให้คณะกรรมการธิการทราบถึงความเดือดร้อนและนำไปสู่ทางออกของปัญหาต่อไป