7 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัส วิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า
มีการถามกันมากว่า "โอมิครอน" ที่กำลังระบาดขณะนี้ เป็นระลอกที่เท่าไหร่ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อความชัดเจน การระบาดในประเทศไทยที่ผ่านมา "โอมิครอน" กำลังเริ่มต้นระลอกที่ 5 โดยจะเรียงลำดับ ดังนี้
การระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 เกิดเริ่มต้นที่สถานบันเทิงทองหล่อและสนามมวย สายพันธุ์ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ S หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น ดั้งเดิม
การระบาดระลอก 2 เกิดที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครในกลางเดือนธันวาคม พบมากในแรงงานต่างด้าว การระบาดเป็นสายพันธุ์ G หรือ GH
การระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นที่สถานบันเทิงทองหล่อ เป็นการนำเข้าสายพันธุ์อังกฤษหรือ "สายพันธุ์อัลฟา" ในปลายเดือนมีนาคม พ. ศ. 2564 การระบาดด้วยสายพันธุ์อังกฤษนี้ทำทีท่าจะดีขึ้นและเริ่มจะลดลง ก็เกิดการระบาดใหม่ซ้อนขึ้นมา
การระบาดระลอก 4 เป็นการระบาดโดยสายพันธุ์เดลตา ที่พบในหมู่คนงานก่อสร้าง การระบาดครั้งนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564 แล้วจึงค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างช้าๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อมาอยู่ที่หลักประมาณ 3,000 คน ก็เริ่มมีการระบาดหลังปีใหม่โดยสายพันธุ์โอมิครอน
การระบาดระลอกที่ 5 คือช่วงเวลาหลังเทศกาลปีใหม่ 2565 และในการระบาดครั้งนี้ จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว น่าจะมากกว่าสายพันธุ์เดลตา เพราะติดง่ายกว่า อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็นหลักหมื่นต่อวันอีกครั้งหนึ่ง จุดสูงสุดจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะต้องช่วยกัน
จากข้อมูลในกราฟ แสดงให้เห็นถึงการระบาดในประเทศไทย การระบาดระลอกที่ 3 และ 4 จะเห็นว่าระลอก 3 กำลังจะลดลงเช่นเดียวกันกับขณะนี้ที่ระลอก 4 กำลังจะลดลงก็เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นมา
โดยสรุปการระบาดในประเทศไทยที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันจะเข้าสู่ระลอกที่ 5 และยากที่จะพยากรณ์ว่าจุดสูงสุดจะมีจำนวนผู้ป่วยเท่าไหร่