สำนักเลขาธิการอาเซียน เผยผ่านแถลงการณ์ ว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าใหญ่สุดในโลก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (1 ม.ค.65) ในออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น สปป ลาว นิวซีแลนด์สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.65 จะมีผลบังคับใช้ในเกาหลีใต้
อาร์เซ็ป มีต้นกำเนิดมาจากการประชุม อาเซียน+3 (คืออาเซียนกับ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้) ในเดือนส.ค. 2011 ซึ่งมีมติยอมรับข้อเสนอร่วมของญี่ปุ่น-จีน ที่มีชื่อว่า“แผนการริเริ่มว่าด้วยการเร่งความเร็วในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก และความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านในเอเชียตะวันออก” หรือ Initiative on Speeding up the Establishment of an East Asia Free Trade Area (EAFTA) and Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA)
อาร์เซ็ป คือความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา ซึ่งการเจรจาเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมอาเซียนที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนพ.ย.2555
ไทยยื่นสัตยาบันสารสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลง อาร์เซ็ป
28 ต.ค.64 คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา นำส่งสัตยาบันสารของไทยสำหรับความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ให้แก่เลขาธิการอาเซียน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.65 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ความตกลง RCEP จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลัง COVID-19 ของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน และช่วยให้อาเซียนมุ่งไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อประชาชนในภูมิภาคและประชาคมโลก
โดยหลังจากไทย และเวียดนาม ยื่นสัตยาบันสารความตกลง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ไทย และ29 ต.ค.เวียดนาม จึงมีประเทศสมาชิกอาเซียนครบ 6 ประเทศ และต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นสัตยาบัน หากจะให้มีผลบังคับใช้ตามกำหนดนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ก็ได้ยื่นสัตยาบันสารของตนต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน จึงมีประเทศนอกอาเซียน 4 ประเทศ (จากที่กำหนดไว้ว่าต้องมี 3 ประเทศ) ที่ยื่นสัตยาบันสาร นอกจากจีน และญี่ปุ่น อันจะทำให้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.65
อาร์เซ็ป (RCEP) ความตกลงการเค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อาร์เซ็ป (RCEP) เป็นความตกลงการเค้าเสรี หรือ FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศภาคีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Demestic Product-GDP) รวมกันราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้ สินค้าส่งออกของไทย หลายรายการจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าเหลือศูนย์ นอกจากนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศที่เสรี เปิดกว้าง และอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา รวมทั้งขยายห่วงโซ่มูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ
อาร์เซ็ป ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจของโลกเอาไว้ราวๆ 30% ยังเป็นข้อตกลงการค้าฉบับแรกซึ่งเชื่อมโยงญี่ปุ่น, จีน, และเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน ข้อตกลงนี้จะขจัดการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากพวกสินค้าที่มีการซื้อขายกันประมาณ 90% และสร้างความเป็นมาตรฐานให้แก่กฎระเบียบด้านศุลกากร, การลงทุน, ทรัพย์สินทางปัญญา, และอี-คอมเมิร์ซจำนวนมาก
ถึงแม้มีการกล่าวหากันต่าง ๆ นานา จากอเมริกา ว่า อาร์เซ็ป เป็นข้อตกลงอันต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ต่างๆ อย่างจำกัด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับประมาณการเอาไว้ว่า ข้อตกลงนี้จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 2.7% พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดอกผลที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นมาได้นั้น อยู่ในระดับใหญ่โตมหึมา
การจัดการภายในของไทย รับมืออาร์เซ็ป
-กรมศุลกากร ออกประกาศอัตราภาษีศุลกากรที่ไทย จะเก็บกับสินค้านำเข้าจากสมาชิกRCEP พร้อมใช้ในวันที่ 1 ม.ค.65
-กรมการค้าต่างประเทศ เรื่องออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกไทยใช้ประกอบการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิก RCEP เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้ความตกลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65
-การจัดตั้งศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลความตกลง RCEP อาทิ อัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยและสมาชิก RCEP ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
-ระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมแผนรับมือหรือใช้มาตรการปกป้องทางการค้าได้ทันท่วงที
-การจัดสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก RCEP และจัดทำ E-Book ความตกลงRCEP ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
ลดภาษีสินค้าไทยเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถือเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูปสินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือคสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19