svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

20 ธันวาคม 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

1) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความเข้มแข็งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เป็นสำคัญ แต่ Fitch ยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็งส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนตุลาคม 2564 มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 9 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่าร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับ (BBB peers) ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 66 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+

Fitch คาดว่า ปี 2565 ประเทศไทยยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน และคาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทยปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 55.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับค่ากลางเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน และจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและการขาดดุลงบประมาณลดลง 
  

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2565 Fitch คาดว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เนื่องจากมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินการคลังประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเพิ่มเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อการลงทุนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 

2) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 9.3 เดือน ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 0.8 ต่อ GDP และร้อยละ 3.5 ต่อ GDP ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ หลังจากขาดดุลที่ร้อยละ 2 ในปี 2564 


ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง