ปรากฏการณ์ในแวดวงการเงินการธนาคารที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในปีนี้ คงจะไม่มีเรื่องไหนมาแรงแซงโค้ง การประกาศแปลงร่าง Transformation ธนาคารไทยพาณิชย์ จาก “ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย” ขึ้นเป็น “SCBx” บริษัทโฮลดิ้ง ในรูปแบบ Financial Technology Group เพื่อเป็นยานแม่ของกลุ่ม SCB
ตามโมเดลใหม่ จะมีการโอนย้าย “ธนาคารไทยพาณิชย์” และธุรกิจในเครือออกมาเป็นบริษัทลูก จำนวน 9 บริษัท คือ Card X, SCB Securities, SCB 10X, SCB Abacus, MONIX, Purple Ventures, Digital Ventures, SCB Tech X และ Token X
นอกจากนี้จัดตั้งบริษัทใหม่จำนวน 5 บริษัท คือ Auto X, Alpha X, CPG-SCB VC Fund, AISCB JV และ Data X
การแปลงร่างของ SCBx สะท้อนให้เห็นภาพของธุรกิจการเงินในอนาคต ที่จะแข่งกันบนกฎเกณฑ์และสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ ทิ้งรากเง้าของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จนไม่เหลือภาพจำแบบเดิมๆ อีกต่อไป โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน
ฉีกภาพลักษณ์แบงก์เจ้าขุนมูลนาย
เหตุผลของการพลิกโฉมธุรกิจจนไม่เหลือภาพของ "ธนาคารพาณิชย์ แห่งแรกของไทย" ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2449 ก็เพราะสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากการที่โลกเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต พร้อมๆ กับการเกิดคลื่นสึนามิเทคโนโลยีถาโถมเข้ามาดิสรัปธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เกิดคู่แข่งทางธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) มากมาย อาทิ ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ ลีสซิ่ง ฯลฯ ทำให้ส่วนแบ่งธุรกิจสินเชื่อถูกแบ่งออกไป
อีกทั้งการพัฒนาตลาดทุน ทำให้บริษัทเอกชนรายใหญ่หันไประดมทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ต่างๆ ระดมทุนจากประชาชนแทนการกู้เงินจากธนาคาร รายได้จากดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต
ในขณะเดียวกันรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ยังลดลงตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน หดหาย จากการเกิดขึ้นของธุรกิจ “ฟินเทค” สินทรัพย์และเงินสกุลดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า “คริปโทเคอเรนซี่”
แปลงร่างสู่ธุรกิจฟินเทคและสินทรัพย์ดิจิทัล
ทางรอดของธุรกิจธนาคารจึงได้ยกระดับขึ้นเป็น “ธนาคารดิจิทัล” แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ ต้องขยายช่องทางการทำธุรกิจออกไปให้กว้างขวาง หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังกลายเป็นอนาคตและเป็นของใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลก
ขั้นตอนการแปลงร่างจากธนาคารไทยพาณิชย์เป็น SCBx ได้เริ่มจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์
โดยให้ดำเนินการแลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” เป็น “SCBx” และนำหุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับขั้นตอนจากนี้นั้น ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ผู้ถือหุ้นจะพิจารณาทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBx
โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90% ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 หุ้น “SCBx” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอนหุ้น “SCB” ในวันเดียวกัน โดยจะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “SCB” และผู้ถือหุ้น SCB จะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น SCBx แทน
จับมือกับธุรกิจที่มีอนาคต
SCBx ในวันนี้ไม่ได้บริการเพียงการเงิน ทว่าได้ผนึกกำลังกับองค์กรต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจที่มีอนาคต และมีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี บริการด้านสุขภาพ การสื่อสาร แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) สินทรัพย์ดิจิทัล ตลาดอีคอมเมิร์ช รวมถึง Tech Startup ที่กำลังเติบโต มีขุมกำลังของนวัตกรรม เป็นอาทิ
การหาพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม พร้อมสู่โลกแห่งอนาคตที่มีดิจิทัลเป็นตัวนำ
นำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี
การร่วมทุน กับ “ปับลิซีส เซเปียนท์” เป็น “เอสซีบี เทคเอกซ์” (SCB Tech X) การร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้เป็นการผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึกทั้งด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ดีที่สุดของสององค์กรมารวมกัน เพื่อก้าวสู่หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อตั้งบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
ธนาคารที่ไม่ใช่ธนาคาร ทะยานสู่โลกการเงินแห่งอนาคต
นอกจากนี้บริษัทในเครือ SCB10X ซึ่งเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึง บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) ก็บุกให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลครบวงจรแบบเต็มรูปแบบ หลังได้รับความเห็นชอบในการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยธุรกิจ ICO Portal นี้ นับเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยานแม่ ในการวางรากฐานสู่โลกการเงินแห่งอนาคตอีกด้วย ครอบคลุมบริการที่ปรึกษา-วางแผนการออกโทเคนดิจิทัล-การพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยี
อีกแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ คือ การที่ SCBx เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” (Bitkub Online Co., Ltd.) ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd.) คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท
จัดเป็นการสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) ที่มี Digital Asset Exchange เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Ecosystem ในระดับประเทศให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตต่อไป
“เอไอเอสซีบี” ยักษ์ใหญ่สื่อสาร – ยักษ์ใหญ่งานเงิน
จัดเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์การร่วมทุน ระหว่าง “เอไอเอส” และ “ไทยพาณิชย์” เพื่อจัดตั้งบริษัท “เอไอเอสซีบี” (AISCB) ครั้งแรกในไทยที่ผู้นำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ “การสื่อสารโทรคมนาคม” และ “ธนาคาร” ร่วมทุนกันเพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไป โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
นี่เป็นเพียงพันธมิตรไม่กี่รายของ SCBx ยังมีบริษัทเทคคอมพานีอีกรายหลาย ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในเทรนด์โลก อยู่ในความต้องการใหม่ของผู้บริโภค การผนึกกำลังกันขององค์กรต่างๆ ในยุคนี้จึงมุ่งหวังผลลัพธ์ในการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ปฏิบัติการด้วยความรวดเร็วตามแบบฉบับของธุรกิจดิจิทัล เพื่อรองรับโลกแห่งอนาคต
การแปลงร่างครั้งนี้ของ “SCBx” ไม่ได้เปลี่ยนโฉมแค่ภาพ “ธนาคารพาณิชย์ แห่งแรกของไทย” ให้หายวับแทบจะไม่เหลือภาพจำเดิมเท่านั้น หากแต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปยังธุรกิจที่เกาะเทรนด์โลก ธุรกิจยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังต้องจับตากันต่อไปว่า ในปี 2565 จะเห็นธนาคารพาณิชย์ไทยรายไหนที่ขยับตัวได้แรง และเขย่าวงการธนาคารเป็นรายต่อไป