งานแรก คือ เลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 เขต คือ เขต 6 สงขลา กับ เขต 1 ชุมพร ซึ่งคาดว่าจะหย่อนบัตรกันวันที่ 16 ม.ค. ปีหน้า ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่ส่ง ก็ถือว่างานเบา เนื่องจากคู่แข่งเหลือแค่พรรคเดียว คือ "พรรคกล้า" ซึ่งกระดูกและพรรษา น่าจะยังไม่แก่กล้ามากพอที่จะโค่นแชมป์เก่า
แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐส่ง ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเขต 6 สงขลา เนื่องจากคู่แข่งไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น
-สมปอง บริสุทธิ์ ผู้สมัครคนเดิม ที่พ่ายแพ้ "บ้านใหญ่" อย่าง ถาวร เสนเนียม ไปไม่ถึง 10,000 คะแนน
-อนุกูล พฤกษาอนุศักดิ์ ทายาท บริษัท ศรีตรัง โกลฟส์ บริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ และลูกชายของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองสะเดา
แม้ตอนนี้พลังประชารัฐยังไม่เคาะว่าจะส่งใคร แต่กุนซือไม่ใช่ใครที่ไหน น่าจะเป็น "อนุมัติ อาหมัด" ซึ่งเพิ่งลาออกจาก ส.ว.มาหมาดๆ เพื่อรับหน้าที่ "แม่ทัพภาคใต้" ให้กับพลังประชารัฐ และศึกนี้อาจจะเป็นผลงานแรกพิสูจน์ฝีมือผู้กว้างขวางอีกคนแห่งภาคใต้ตอนล่างจาก "อนุมัติ อาหมัด"
แต่ประเด็น คือ พลังประชารัฐจะส่งผู้สมัครหรือไม่ "ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า" ที่แย้มให้ "ข่าวข้นคนข่าว" ได้ฟังว่า "กรรมการบริหารพรรคหลายท่าน ก็เสนอว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องมันนั่งคุยกัน เพราะว่ากติกาเลือกตั้งยังไม่ออก จึงต้องน่าจะใช้เวลาหนึ่งถึงสองอาทิตย์ สถาบันการเมืองจะต้องตัดสินใจ หัวหน้าพรรคจะเปิดโอกาสให้ตัดสินใจกันว่า จะส่งหรือไม่ส่ง เพราะฉะนั้นไม่ได้มีใครตัดสินใจเพียงคนเดียวว่าจะส่งหรือไม่ส่ง นั่นเป็นที่มาของการที่จะต้องโหวตกันในกรรมการบริหารพรรค ซึ่งจะตัดสินใจหลังจากมีกฤษฎีกาในการเลือกตั้ง"
ขณะเดียวกัน พรรคกล้า แม้จะไม่น่ากลัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะต้องไม่ดูแค่ตัวผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง "ทนายอาร์ม" พงศธร สุวรรณรักษา แต่ต้องดูถึง "กุนซือเบื้องหลัง" คือ "ผู้การชาติ" พ.อ.สุชาติ จันทรโขติกุล เพื่อนร่วมรุ่นนายกฯ ที่โบกมือลาพลังประชารัฐ มาอยู่พรรคกล้า และนี่คืองานแรกในการพิสูจน์ฝีมือเช่นกัน
ส่วนประชาธิปัตย์ วางตัว "สุภาพร กำเนิดผล" หรือ "น้ำหอม" รองนายก อบจ.สงขลา ภรรยาของ "นายกชาย" เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 สงขลา งานนี้จึงเป็นงานใหญ่ของ "นายกชาย" ที่ต้องฝ่าด่านในพรรค เอาชนะรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ให้ได้ จากนั้นก็มาต่อสู้ชิงเก้าอี้ ส.ส.สงขลา เขต 6 ให้ภรรยา เป็นภารกิจที่ 2
ภารกิจต่อไปของรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ก็คือการเข้าไปเคลียร์ปัญหา สกัด "เลือดหยุดไหล" ที่พัทลุง
การเมืองของฝั่งประชาธิปัตย์ที่พัทลุง ต้องบอกว่า "อีรุงตุงนัง" พอสมควร เริ่มจาก
-นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส. 8 สมัย ประชาธิปัตย์ ตีจากโดยน่าจะไปอยู่กับพรรคใหม่ของอดีตสี่กุมาร
-สาเหตุที่ "นิพิฏฐ์" ลาออก เพราะประชาธิปัตย์เตรียมหาผู้สมัครลง ส.ส.เขต 2 แทน หลังเคยประกาศวางมือจาก ส.ส.เขต โดยมีข่าวจะดันตระกูล "ธรรมเพชร" มาลงสมัครแทน
-พัทลุง มี 3 เขตเลือกตั้ง ขุนพลประชาธิปัตย์ 3 เขต คือ เขต 1 สุพัชรี ธรรมเพชร ลูกสาว สุพัฒน์ ธรรมเพชร ส.ส. 6 สมัย เขต 2 นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ เขต 3 นริศ ขำนุรักษ์
โดยผลเลือกตั้งปี 62 ประชาธิปัตย์ โดนภูมิใจไทย โค่นไป 2 เขต คือ เขต 1 กับ เขต 2 เหลือไว้เพียงเขต 3 เขตเดียว
แต่ในการเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อปลายปีที่แล้ว "กลุ่มธรรมเพชร" โดย วิสุทธิ์ ธรรมเพชร ซึ่งเป็นน้าของ สุพัชรี อดีต ส.ส.เขต 1 ชนะกลุ่ม นาที รัชกิจประการ เจ้าแม่พัทลุงแห่งภูมิใจไทยไปได้ ทำให้ตระกูลธรรมเพชร วางแผนกินรวบ ด้วยการส่ง สุพัชรี ลงเขต 1 และลูกชายของ วิสุทธิ์ คือ นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลงเขต 2 แทนนิพิฏฐ์ จุดนี้จึงทำให้ นิพิฏฐ์โกรธ ทำนองว่าไม่ปรึกษา และเป็นเหตุผลให้ลาออกไป
-แต่เกมพลิก เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้กองธรรมนัส พร้อม อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ควงแขนลงพื้นที่พัทลุง และเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร โดยชื่อที่ทุกคนจับตามอง คือ นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลูกชายของ วิสุทธิ์ นายกอบจ. มีข่าวจะไปลงเขต 2 ในนามพลังประชารัฐ
คำถามตามมา คือ "ตระกูลธรรมเพชร" ที่เหลือ คือ สุพัฒน์ ธรรมเพชร อดีต ส.ส. 6 สมัย และ สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต ส.ส.เขต 1 จะย้ายเข้าค่าย "ผู้กองธรรมนัส - พลังประชารัฐ" ด้วยหรือไม่
นี่คืองานใหญ่ของรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ คนใหม่ เพื่อดึงบุคลากรสำคัญของพรรคเอาไว้ ให้อยู่ต่อไป ไม่ใช่ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งยกจังหวัด เพราะงานนี้แม้แต่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ก็ยังออกอาการไม่กล้าการันตี โดยบอกให้ไปรอดูวันสมัครรับเลือกตั้งเลยว่าจะอยู่กับใคร
ส่วนภารกิจสุดท้าย ทั้งใหญ่และยากที่สุด คือ การฟื้นความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ หลังจากเลือกตั้งปี 62 โดนทะลวงไปกว่าครึ่ง ซึ่งภาคใต้ทั้งภาคมี ส.ส. 50 คน ประชาธิปัตย์ได้มาแค่ 22 คน เสียเก้าอี้ไปให้พลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง ประชาชาติ 6 ที่นั่ง และรวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง โดยสัดส่วนเก้าอี้ที่ประชาธิปัตย์ได้ เหลือเพียง 44% จากเดิมที่เคยได้ 85-90% ในภาคใต้ บางสมัยได้เกือบ 100% ก็ยังเคยมี
หนำซ้ำเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช ก็พ่ายให้พลังประชารัฐ เสียไปอีก 1 เก้าอี้ ดังนั้น เลือกตั้งซ่อมต้นปีหน้า ถ้ารักษาเก้าอี้ไว้ไม่ได้ ก็จะเหลือ ส.ส.ใต้น้อยลงอีก นี่คืองานหิน และศึกวัดบารมีของรองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ของประชาธิปัตย์