svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับยามสามตายุบสภาเวลาไหนได้เปรียบสู้เลือกตั้ง

ความเคลื่อนไหวการเมือง ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ซึ่งเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งจากระบบ“ใบเดียว" เป็น "บัตร 2 ใบ" และเพิ่ม ส.ส.เขต จาก 350 เป็น 400 เขต พร้อมลด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" จาก 150 เหลือ 100 คน โดยจำนวนรวม ส.ส.ทั้งสภาอยู่ที่ 500 คนเหมือนเดิม

ปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมายอย่างหนึ่งก็คือ ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้  ปรากฏว่ามีกระแสข่าวยุบสภา ตามมามากมายแบบไม่น่าเชื่อ สาเหตุเป็นเพราะ

 

 

1.ประชาชนเข้าใจผิด คิดว่ากติกาการเลือกตั้งใหม่ออกมาแล้ว ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันที ทั้งที่จริงๆ ยังมีกระบวนการแก้ไขกฎหมายลูกอีก เพราะที่ประกาศออกมายังเป็นเพียงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท ยังไม่มีรายละเอียดวิธีการคำนวณ และเกณฑ์ขั้นต่ำในการคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่าพรรคการเมืองต้องได้คะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศเท่าใด จึงจะมีสิทธิ์นำคะแนนมาคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในกฎหมายลูก

 

2.เป็นการปล่อยข่าวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เพื่อดิสเครดิตและลดทอนความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ยาว ซึ่งการที่รัฐบาลเสียความเชื่อมั่น หรือถูกมองว่าเป็นรัฐบาลอายุสั้น ก็จะมีผลทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ข้าราชการเกียร์ว่าง นโยบายต่างๆ หยุดนิ่ง รอเลือกตั้ง ฯลฯ

คำถามต่อมา คือ สรุปแล้วจะยุบหรือไม่ยุบสภากันแน่ เรื่องนี้ตอบยาก เพราะอำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าถามใจนายกฯ ก็คงไม่อยากยุบ ต้องการอยู่จนครบวาระ เพราะการยุบสภาเลือกตั้งใหม่คือความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหรือไม่

 

แต่การจะอยู่ครบวาระ เสียงสนับสนุนในพรรคร่วมรัฐบาลต้องมีเอกภาพ ส.ส.มีความรับผิดชอบงานสภา ไม่โดด ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย ภายในพรรคแต่ละพรรค และระหว่างพรรคต้องไม่ขัดแย้งกัน ไม่เล่นเกมการเมืองกันเอง คำถามคือสภาพของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เป็นแบบนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ กล้าพูดหรือไม่ว่ามีเอกภาพ

 

เมื่อมาดูกันว่า ถ้านายกฯต้องยุบสภาก่อนครบวาระ มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ตอนไหน และแบบใดได้บ้าง

 

1.แก้กฎหมายลูกเสร็จ แล้วยุบ สาเหตุเพราะหลายฝ่ายจะเรียกร้องกันมาก ประกอบกับมารยาททางการเมือง เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะ ส.ส.ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน มีที่มาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่แก้ไขใหม่แล้ว

 

ฉะนั้นการยุบสภาหลังแก้กฎหมายลูกเสร็จ ก็ดูสมเหตุสมผล แต่นายกฯอาจจะยังไม่อยากยุบ เพราะกรอบเวลาการจัดทำกฎหมายลูกเสร็จทั้งหมด จะตกอยู่ประมาณกลางปีหน้า หรือราวๆช่วงเดือนพ.ค. ถึงมิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงใกล้จะถึงเดือนส.ค.

 

ซึ่งนายกฯจะมีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความว่า ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือยัง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ห้ามนายกฯดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี แม้จะเป็นการดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันก็ตาม

 

การยุบสภาช่วงกลางปี โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าครบ 8 ปีหรือยัง ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นในตัวนายกฯลดต่ำลง เพราะไม่มีใครรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร

 

2.ยุบสภาเพราะเจออุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยสิ่งที่เรียกว่าอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น ร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาในวาระที่ 1 โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน หรือรัฐบาลนำพระราชกำหนดเข้าขอความเห็นชอบจากสภา แล้วไม่ได้รับการรับรอง ถูกตีตก แบบนี้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

 

3.จงใจให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เพื่อชิงยุบสภา รูปแบบนี้คิดบนฐานความเชื่อที่ว่า ยุบสภาเร็วได้เปรียบ เพราะพรรคใหม่ตายหมด พวกย้ายพรรคก็จะย้ายไม่ทัน หรือย้ายทันก็แบบโกลาหล เพราะต้องสังกัดพรรคให้ครบ 30 วัน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งใหม่จากการยุบสภา นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งไม่เร็วกว่า 45 วัน แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน หรือเลือกตั้งระหว่าง 45-60 วันหลังยุบสภา

 

นอกจากนั้น แม้แต่พรรคใหญ่ที่ยังไม่พร้อมเรื่องสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ก็จะเจอปัญหาเรื่องการทำไพรมารี่โหวตด้วย ทุกอย่างจะชุลมุนวุ่นวายไปหมด ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่แล้ว และเตรียมการไว้ก่อน ก็จะได้เปรียบ