21 พฤศจิกายน 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการชลประทานในเขตทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่ เจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ พระพิมล และทุ่งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วย ทุ่งสองพี่น้อง และทุ่งโพธิ์พระยา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือพร้อมรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำท่าจีน การบริหารจัดการน้ำทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ต.โพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จากนั้น อธิบดีกรมชลประทานและคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ประตูระบายน้ำแม่หม้าย และประตูระบายน้ำบางเลน พร้อมร่วมหารือกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ออกให้เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายและกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่คงเหลืออยู่อย่างปราณีต เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีนที่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 14,837 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 8,141 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ปัจจุบันได้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 ทุ่งไปแล้วรวมประมาณ 1,335.58 ล้าน โดยทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 413 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 143 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลักและทะเลอ่าวไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ในทุ่งเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้
ในการนี้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเน้นย้ำให้เร่งทำการระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่ ด้วยการระดมทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมกับเน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับแนวทางตามวิถีชีวิตของชุมชน พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนด้วย