บูราน เป็นเครื่องบินอวกาศลำแรกที่สร้างขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ " บูราน " ของโซเวียต โดยนอกเหนือจากการเป็นชื่อยานโคจรไปกลับของโซเวียตลำแรกแล้ว คำว่า " บูราน" ยังเป็นชื่อสำหรับโครงการเครื่องบินอวกาศของโซเวียต/รัสเซียทั้งหมด ซึ่งก็รวมถึงยานโคจร ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ยานโคจรชั้นบูราน " ด้วย
การสร้างยานอวกาศบูรานเริ่มขึ้นในปี 2523 และในปี 2527 ยานโคจรเต็มรูปแบบลำแรกก็ออกจากโรงงานผลิต บริษัทกว่า 1,000 แห่งทั่วสหภาพโซเวียตมีส่วนร่วมในการก่อสร้างและการพัฒนา ยานอวกาศบูรานถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ใช้ปล่อยโดยจรวดเอเนรเกียร์ ซึ่งเป็นจรวดยกสัมภาระขนาดที่หนักมากของสหภาพโซเวียตแบบใช้แล้วทิ้ง
การปล่อยยานโคจรชั้นบูราน ขึ้นสู่วงโคจรเพียงครั้งเดียวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531 จากฐานปล่อยจรวด 110/37 ที่ไบคานูร์ ในคาซัคสถาน
บูรานถูกยกขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดเอเนรเกียร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ การปล่อยแบบอัตโนมัติดำเนินการไปตามที่กำหนดไว้ และจรวดเอเนรเกียร์ก็ได้ยกยานขึ้นสู่วงโคจรชั่วคราว ก่อนที่ยานอวกาศจะแยกออกจากจรวดส่งตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ หลังจากเร่งตัวเองขึ้นสู่วงโคจรที่สูงขึ้นและโคจรรอบโลก 2 รอบ จากนั้น เครื่องยนต์ของบูรานก็จุดระเบิดโดยอัตโนมัติเพื่อเริ่มต้นการกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก มันกลับลงมาในแนวนอน เพื่อลงสู่รันเวย์ของสถานที่มันใช้ในการปล่อยยาน
หลังจากเข้าใกล้ไซต์ 251 โดยอัตโนมัติ บูรานก็ลงจอดภายใต้การควบคุมของตัวมันเอง 206 นาทีหลังจากการปล่อยยาน แม้จะมีความเร็วลมที่ด้านข้างที่ 61.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่บูรานก็เบี่ยงไปที่ด้านข้างเพียง 3 เมตร และเลยเป้าหมายไปเพียง 10 เมตร ถือเป็นเครื่องบินอวกาศลำแรกที่ทำการบินแบบไร้คนขับ รวมถึงลงจอดในโหมดอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ในเวลาต่อมาพบว่า บูรานสูญเสียแผ่นฉนวนกันความร้อนเพียง 8 แผ่นจากทั้งหมด 38,000 แผ่นตลอดการเดินทาง
ในปี 2532 คาดว่า บูรานจะทำการเที่ยวบินที่ 2 แบบไม่มีลูกเรือภายในปี 2536 โดยจะทำการบินในระยะเวลา 15-20 วัน ซึ่งแม้ว่าโครงการบูรานจะะไม่เคยถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการไม่มีเป้าหมายการใช้งานที่ชัดเจน ก็ทำให้เงินทุนในเรื่องนี้หดหายไป และเที่ยวบินนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น
บูรานพังเสียหายในปี 2545 เมื่อโรงเก็บเกิดถล่มลงมา