จากกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าประสบการณ์ หลังได้ไปซื้อหมูปิ้งที่ร้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมเผยภาพหมูปิ้งที่มีขนาดชิ้นเล็กผิดหูผิดตา ราวกับว่าเป็นเพียงเศษของเนื้อหมู ติดอยู่ที่ปลายไม้ พร้อมกับระบุข้อความว่า "ขยี้ตาแรงมาก นี่คือเรื่องจริงในประเทศบุรีรัมย์ น้ำตาสิไหล 7ไม้10 บาท (หมูปิ้งยุคลุง)" หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเห็นก็แตกต่างกัน บางคนบอกว่า ไม่เห็นหมูปิ้งที่ไหนชิ้นเล็กขนาดนี้มาก่อน พร้อมตั้งคำถามว่า แบบนี้ทำไมไม่รวบเป็นไม้เดียวไปเลย? เพราะทำแบบนี้เปลืองไม้เปล่าๆ ปริมาณอันน้อยนิดของหมูปิ้งแต่ละไม้ พร้อมแซวขำ ๆ ว่า อย่าหายใจแรงเดี๋ยวหมูปลิวหาย ขณะที่บางคนกลับมองว่า ในราคา 7 ไม้ 10 บาท เป็นอะไรที่ถูกมาก ๆ เผลอ ๆ ทางร้านแทบไม่ได้กำไร เพราะแค่ค่าไม้ก็เท่าไหร่แล้ว จนกลายเป็นกระแสดรามาในโลกโซเซียล
12 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังขายหมูปิ้งดังกล่าว ชื่อร้าน “หมูปิ้งโบราณ 1.5 บาท” ตั้งขายอยู่ริมถนนสายบุรีรัมย์ – นางรอง ขาเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ โดยมี น.ส.อภิญญา ทิมประเสริฐ หรือปีใหม่ อายุ 23 ปี และนายศตวรรษ ทองนำ หรือแก๊ป อายุ 27 ปี สองสามีภรรยา เป็นเจ้าของร้าน ได้พาลูกน้อยวัย 4 ขวบ มาขายหมูปิ้งด้วย ส่วน น.ส.อภิญญา หรือปีใหม่ ก็กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ด้วย ซึ่งวันนี้ก็มีลูกค้ามาแวะเวียนมาซื้อหมูปิ้งอย่างไม่ขาดสาย
จากการสอบถาม น.ส.อภิญญา ผู้เป็นภรรยา เล่าว่า ปกติตนมีอาชีพเป็นเซลขายรถยนต์อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ช่วงโควิดยอดขายน้อยจึงตัดสินใจลาออก ส่วนสามีก็เป็นช่างแต่ก็ไม่ค่อยมีงานเหมือนกัน ซึ่งสามีเป็นคนบุรีรัมย์ จึงตัดสินในกลับบ้านเกิดแล้วมาลองขาหมูปิ้งโบราณสูตรที่คิดค้นขึ้นเองขายไม้ละ 1.5 บาท หรือ 7 ไม้ 10 บาท เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มอาชีพรวมไปถึงเด็กนักเรียนสามารถซื้อรับประทานได้ ก็เพิ่งขายมาได้ 15 วันกระแสตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี ขายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 – 1,500 ไม้ หักต้นทุนแล้วก็มีกำไรเกือบครึ่ง ถือว่าเป็นรายได้ที่ดี
ส่วนกระแสดรามาที่มีลูกค้าไปโพสต์ในโลกโซเชียลว่าหมูปิ้งร้านตนเองไซด์เล็กราคาแพงนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของลูกค้าที่จะติชมได้ไม่ว่าจะปริมาณหรือรสชาติ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้โกรธกลับขอบคุณลูกค้าด้วยซ้ำที่ทำให้คนรู้จักร้านของตนเองมากขึ้น ส่วนลูกค้าจะมาอุดหนุนหรือไม่ก็เป็นสิทธิของลูกค้าอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวยืนยันว่าจะยังขายขนาดเท่านี้และราคานี้เพราะถือเป็นเอกลักษณ์ของที่ร้านที่ตั้งใจจะทำไม่เหมือนใคร ซึ่งถึงแม้ตนจะขายได้เพียง 15 วันแต่ก็มีลูกค้าขาประจำที่ซื้อแล้วกลับมาซื้อซ้ำอีก เพราะติดใจในรสชาติความอร่อยของหมูปิ้งร้านตนเอง ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นลูกค้าคนไหนบ่นว่าได้น้อยเลย เพราะตนก็คิดว่าขนาดนี้และราคาเท่านี้ก็เหมาะสมแล้ว แต่บางคนโดยเฉพาะเด็ก หรือนักเรียนมาซื้อตนก็จะแถมเพิ่มอีก 1 ถึง 2 ไม้
ด้าน น.ส.ขวัญใจ อักษรณรงค์ อายุ 45 ปี ลูกค้าคนหนึ่ง บอกว่า ตนแวะมาซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ร้านนี้เป็นประจำเกือบทุกวัน ก็คิดว่าปริมาณเหมาะสมกับราคาไม่ได้แพงเลย ถ้าซื้อหมูปิ้ง 7 ไม้ 10 บาท ข้าวเหนียวอีก 10 บาท รวมเป็น 20 บาทสำหรับตนก็อิ่มแล้ว และตนมองว่าการขายแบบนี้ก็เป็นเอกลักษณ์ดี ส่วนรสชาติสำหรับตัวเองคิดว่าอร่อยถูกปาก
จากนั้นผู้สื่อข่าวก็ได้เดินทางไปสอบถาม น.ส.ศรีนาง คงงาม หรือขิง อายุ 30 ปี ผู้โพสต์ ก็บอกว่าปกติตนเป็นตนสุราษฎร์ธานี แต่สามีเป็นคนบุรีรัมย์ ตนจึงมาทำงานที่บุรีรัมย์ด้วย โดยเมื่อ 2 วันก่อน ตนได้ไปทำงานกับแฟนตอนเช้าเห็นหมูปิ้งริมทางติดป้ายว่าหมูปิ้งไม้ละ 1.5 บาท ก็เห็นว่าราคาถูกดียุคเศรษฐกิจแบบนี้ไม่น่าจะมีแล้วราคานี้ จึงได้แวะซื้อโดยหมูปิ้ง 50 บาท และข้าวเหนียว 10 บาท พอซื้อมาแล้วเห็นหมูปิ้งเล็กมากไม่เหมือนกับหมูปิ้งที่อื่น แต่ราคาอาจจะสูงกว่านี้ สำหรับตนกินแล้วไม่อิ่มเพราะเป็นคนตัวใหญ่ จึงได้นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเอง ลักษณะแซวๆ ขำๆ ว่า "ขยี้ตาแรงมาก นี้คือเรื่องจริงในประเทศบุรีรัมย์ น้ำตาสิไหล 7ไม้10 บาท (หมูปิ้งยุคลุง)” ก็ไม่คิดว่าจะมีคนเข้ามาคอมเมนท์จนกลายเป็นกระแสดรามา
ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะพาดพิงหรือทำให้ร้านได้รับความเสียหาย ส่วนตัวเห็นใจแม่ค้าด้วยซ้ำที่ยุคเศรษฐกิจแบบนี้ยังขายไม้ละ 1.5 บาท หากเป็นไปได้ตนก็อยากให้แม่ค้าเปลี่ยนรูปแบบจาก 7 ไม้ 10 บาท ก็ทำขนาดให้ใหญ่ขึ้นแล้วขายไม้ละ 3 บาท หรือ 5 บาทไปเลยจะได้ประหยัดไม้ลดต้นทุนได้อีก แต่ถ้าหากไม่ค้าไม่สบายใจกับที่ตนเองโพสต์จนกลายเป็นดรามา วันหลังผ่านไปก็จะแวะไปขอโทษแม่ค้า แต่ยืนยันว่ารสชาติอร่อยจริงและจะแวะไปอุดหนุนอีกแน่นอน
โดย - สุรชัย พิรักษา